บทความ / ข่าว

ผู้หญิงมีสิทธิอะไรในบัตรทอง
09/06/2018 21:50

เนื้อหาจาก “พิกัดเพศ” รายการของ สคส. และ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ทาง ThaiPBSradio.com โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

คุยกับ อรกัลยา พุ่มพึ่ง หัวหน้าสำนักงานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) เขต 4 จังหวัดปทุมธานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มงานด้านสุขภาพผู้หญิง 

สคส: ภาคประชาชนทำอะไรบ้างในงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

อรกัลยา: งบประมาณอยู่ที่ สปสช. ถือว่า สปสช.เป็นผู้ซื้อบริการสุขภาพ ส่วนผู้ขายคือกระทรวงสาธารณสุข ก็คือโรงพยาบาลทั่วไป สปสช.แบ่งการดูแลเป็น 13 เขต ปทุมธานีเป็นเขต 4 รวมกับจังหวัดภาคกลางอีก 8 จังหวัด โดยภาคประชาชนเปิดศูนย์จังหวัดละ 1 แห่ง หน้าที่ของพวกเราคือให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องบัตรทอง เรื่องสิทธิของบัตรทอง ว่าครอบคลุมอะไรบ้าง ช่วยเป็นที่ปรึกษา ไกล่เกลี่ยเวลาเกิดปัญหา 

ต่อมา ขยายเครือข่ายตามประเด็น เรียกเป็น “ศูนย์ประเด็น” มีเครือข่าย 9 ด้าน อรกัลยาเป็นเครือข่ายผู้หญิง ทำงานประเด็นผู้หญิงที่เกี่ยวกับบัตรทอง พวกเราไปอบรมเพื่อจะมาเป็นเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) คำว่า “อื่น” คือเราไม่ไปตั้งสำนักงานในสถานที่ราชการ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนของโรงพยาบาลมีอยู่แล้ว ถือเป็นส่วนของผู้ให้บริการ แต่เราทำงานอย่างอิสระ 

สคส: คือไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการให้บริการ

อรกัลยา: ใช่ เราอยู่ในชุมชน ถ้าพูดแบบชาวบ้าน คือทำงานแทน สปสช.ในเรื่องที่มีประชาชนอยากขอข้อมูล ปรึกษา หรือร้องเรียน ซึ่งมาหาเราสะดวกกว่าไป สปสช.

สคส: มีคนมาใช้บริการที่ศูนย์ฯ สักแค่ไหน 

อรกัลยา: เยอะค่ะ แต่ต้องแยกประเภทด้วย ต้องแยกให้ได้ว่า แค่มาบ่นหรือจะเอาเรื่องจริงๆ กลุ่มที่มาบ่น ฟังแล้วจบไป แต่ต้องจบแบบให้เขาสบายใจด้วย ไม่อย่างนั้นไม่จบ คือคนชุมชน ถ้าเป็นเมื่อก่อน ไม่มีคนสนใจฟังเขาก็จะไม่พูด แต่ตอนนี้ มีทางเลือกอื่น เช่น ไปพูดในเฟซบุ๊ก ส่งไลน์ แล้วเรื่องก็ขยายไปเรื่อยๆ คนเสียหายคือผู้ให้บริการ ฉะนั้น เราต้องทำงานหนัก เพื่อให้เขามาพูดกับเราให้ได้ ถ้าเป็นกลุ่มที่มาเอาเรื่องจริงๆ เราก็ยิ่งต้องทำงานหนัก ต้องเช็คข้อมูลว่าที่เขามาเล่าให้เราฟัง มันจริงไหม เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง เราต้องเช็ค ถ้าจริง ก็ต้องทำเรื่อง และส่งไปที่เขต

สคส: ที่เอาเรื่อง หมายถึงประสบปัญหาจากการใช้บริการสุขภาพ

อรกัลยา: ใช่ค่ะ เป็นหลักเลย และในจำนวนนี้ก็จะมีประเด็นปัญหาของผู้หญิง ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะที่เราดูแลอยู่ด้วย 

ที่สำคัญคือผู้หญิงไม่ค่อยรู้สิทธิของตัวเอง คือผู้หญิงจะเห็นความสำคัญของอย่างอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเอง ดูแลอย่างอื่นก่อน ดูแลคนอื่นก่อน ทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธิสุขภาพ 

สคส: มีสักกี่เปอร์เซนต์ที่เป็นประเด็นผู้หญิง 

อรกัลยา: ประเด็นผู้หญิง ปัญหาเยอะนะคะ แต่ที่สำคัญคือผู้หญิงไม่ค่อยรู้สิทธิของตัวเอง วัดจากการที่เราเดินแจกแผ่นพับ ไปตามร้านกาแฟ มีทั้งผู้ชายผู้หญิงนั่งอยู่ เราแจกแผ่นพับให้ทุกคน แต่คนอ่านจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงไม่อ่าน ทั้งที่เป็นข้อมูลเรื่องผู้หญิง เคยถาม เขาบอกว่าเดี๋ยวค่อยอ่าน คือผู้หญิงจะเห็นความสำคัญของอย่างอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเอง ดูแลอย่างอื่นก่อน ดูแลคนอื่นก่อน ทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธิสุขภาพ 

ส่วนคนที่รู้เรื่องสิทธิก็ไม่ค่อยรู้เรื่องหน้าที่ เช่น ลูกไม่สบาย รู้ว่าไปโรงพยาบาลมีสิทธิรักษาฟรีเพราะมีบัตรทอง แต่ไม่รู้หน้าที่ คือไปแล้วไม่พกบัตรประชาชนหรือเอกสารที่จำเป็นไปด้วย หมอเช็คประวัติเด็กไม่ได้ ทำให้เกิดการโต้เถียงกัน กลายเป็นกรณีพิพาทกับคุณหมอ หรือบางครั้ง บอกว่า นางพยาบาลหน้างอคอหัก คือนางพยาบาล 1 คนต่อคนไข้ 200 คน ถ้าต้องบอกว่า ป้าต้องเอาบัตรประชาชนมานะ ต้องอธิบายกับทุกคนแบบนี้พยาบาลตายนะคะ แต่ก็ทำให้คนที่ไปใช้บริการหงุดหงิด กลายเป็นกรณีพิพาทเรื่องนางพยาบาลหน้างอคอหักก็มี

สคส: กรณีที่มาร้องเรียนจริงๆ ไม่ใช่แค่บ่น ศูนย์ฯ ต้องดำเนินการอย่างไร

อรกัลยา: ต้องแยกเป็นเรื่องค่ะ อย่างบางคนถูกเรียกเก็บเงิน เราต้องไกล่เกลี่ย ต้องรู้ให้ได้ว่าถูกเรียกเก็บเงินด้วยกรณีอะไร ส่วนมากคือเวลาคลอดลูก พอจะกลับบ้านมีการเรียกเก็บเงิน ถึงจะไม่มากแต่ตอนนี้บัตรทองครอบคลุมหมดแล้ว ยกเว้น ถ้วย ถัง กะลามัง หม้อ เสื้อผ้า นอกนั้นให้ทั้งหมด แต่อาจเรียกเก็บจากความเข้าใจผิด หรืออะไร เราก็จะต้องมีวิธีการเข้าไปไกล่เกลี่ย เมื่อก่อนต้องวิ่งไปเคลียร์หน้างาน ไปแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ยกหูโทรศัพท์ไปคุย “น้อง อันนี้ไม่ต้องเก็บเนอะ ปล่อยเขากลับไปเถอะ” เป็นวิธีการไกล่เกลี่ย

สคส: คือต้องประสานงานแก้ปัญหา

อรกัลยา: แก้ปัญหา เพราะโรงพยาบาลไม่ได้มีแต่คนเดิม แต่จะหมุนเวียนไป บางคนก็ไม่ค่อยทราบเรื่อง

สคส: งานรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์ครอบคลุมทุกเรื่องเลยหรือเปล่า 

อรกัลยา: ที่ทำอยู่เป็นศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงโดยตรง แต่ทำงานจริงรับทุกเรื่อง ขี่มอเตอร์ไซด์ตกหลุม ก็รับค่ะ คือต้องทำหมด ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าเราเปิดสำนักงานขึ้นมา เรื่องนั้นทำ เรื่องนี้ไม่ทำ เขาก็จะเข้ามากันทุกเรื่อง

สคส: นอกจากการทำงานช่วยเหลือรายกรณีแล้ว มีงานเชิงนโยบายด้วยหรือไม่ 

อรกัลยา: กฎหมายหลักประกันสุขภาพกำหนดให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกปี โดยเราซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานฯ เข้าไปจัด Focus group ตามประเด็นที่กำหนดขึ้นในแต่ละปี เช่น ปีนี้ เราอยากรู้ว่า เครือข่ายคนเป็นโรคไตมีปัญหาอะไร ก็จะเปลี่ยนประเด็นไปในแต่ละปี

ทางสาธารณสุขดูที่อายุ 35 ปีเริ่มมีความเสี่ยง อาจจะอนุมานว่า 35 นี่แต่งงาน มีเพศสัมพันธ์ ถ้าถึง 60-65 คือไม่เสี่ยงแล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ คุณจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กอายุ 12 ปีไม่มีเพศสัมพันธ์

สคส: มีประเด็นผู้หญิงเข้ามาในเวทีภาคประชาชนอย่างไรบ้าง

อรกัลยา: ผู้หญิงสูงอายุเสนอว่า อยากให้มีการตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยไม่ต้องกำหนดอายุ อย่างหลานที่บ้านอายุแค่ 10 กว่าขวบ ก็อยากให้ตรวจ

สคส: ปัจจุบัน ข้อกำหนดของบัตรทองเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร

อรกัลยา: จริงๆ ไม่ใช่ข้อกำหนดของ สปสช. แต่ผู้ให้บริการส่วนมากจะเน้นที่กลุ่มผู้หญิงวัย 35-60 ปี แต่เวลาเราไปทำตลาดนัดสุขภาพ โดยประสานให้โรงพยาบาลนำรถพยาบาลออกตรวจ คนที่เดินมาตรวจอายุ 72 ปีก็ยังมีนะคะ คนทำงานเรื่องเพศก็จะเถียงกันตลอดเวลาว่า กลุ่มไหนเสี่ยง กลุ่มไหนไม่เสี่ยง พวกเราทำงานกันด้านนี้รู้ว่าเสี่ยงหมด แต่ทางสาธารณสุขดูที่อายุ 35 ปีเริ่มมีความเสี่ยง อาจจะอนุมานว่า 35 นี่แต่งงาน มีเพศสัมพันธ์ ถ้าถึง 60-65 คือไม่เสี่ยงแล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ คุณจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กอายุ 12 ปีไม่มีเพศสัมพันธ์ ในเวทีรับฟังความคิดเห็น ผู้สูงอายุพูดเลยว่า หลานอายุ 14 ปีเขารู้ว่าเสี่ยง ก็อยากจะตรวจ เลยมีข้อเสนอว่า ขอให้ตรวจมะเร็งปากมดลูก ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย

สคส: ถ้าไม่อยู่ในช่วงอายุที่ทางสาธารณสุขมองว่าเสี่ยง ใช้สิทธิไม่ได้ ต้องจ่ายเองหรือเปล่า

อรกัลยา: ตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการสร้างเสริมป้องกัน ไม่มีสิทธิเก็บเงินอยู่แล้ว แต่ส่วนมากหมอไม่ตรวจให้ แล้วคนแก่ก็ไม่มีใครไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจมะเร็งปากมดลูก ส่วนมากวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกในชุมชนจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปตามกลุ่มเป้าหมายมาตรวจ กลุ่มเป้าหมาย ก็คืออายุ 35-65 อีกปัญหาคือโรงพยาบาลทำงานในเวลาราชการ คนวัยทำงานซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็อยู่ที่ทำงาน ก็พลาดตรงนี้ไป

สคส: ข้อเสนอที่ระดมจากเวทีแล้วมีขั้นตอนอย่างไรต่อ

อรกัลยา: ข้อมูลจะถูกแยกเป็นกลุ่ม อะไรที่แก้ไขในพื้นที่ได้ จะส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแก้ไขทันที อะไรที่แก้ไขได้ในระดับเขตก็เอาใส่กล่องในระดับเขต แล้วเหลือจะต้องเป็นนโยบายระดับชาติ ก็เอาใส่กล่องนโยบายระดับชาติ เพื่อส่งไปในระดับชาติไป

สคส: มีประเด็นผู้หญิงเรื่องใดบ้างที่ถูกชงจากภาคประชาชนจนนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย

อรกัลยา: ท้อง สมัยก่อน บัตรทองให้สิทธิคลอด 2 ครั้ง หลังจากขับเคลื่อนมาประมาณ 3 ปี ตอนนี้ไม่จำกัดจำนวนครั้งแล้ว คลอดมาเลย รัฐจ่ายให้ทั้งหมด แล้วก็บริการฝังยาคุมกับใส่ห่วงคุมกำเนิด เมื่อก่อนต้องจ่ายเงินเอง ใส่ห่วงประมาณ 800 บาท ฝังยาคุม 2,500 บาท ตอนนี้อยู่ในระบบบัตรทองแล้ว น้องที่อยากคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงหรือฝังยาก็ไม่ต้องจ่ายสตางค์

อีกเรื่องคือวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ที่จริง เราไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะวัคซีนป้องกันได้แค่ไม่กี่สายพันธุ์ แต่มะเร็งมีหลายสายพันธ์มาก แต่ในเมื่อเห็นว่าเป็นความจำเป็น เราก็ยินดี อีกประเด็นที่คนทำงานเรื่องเพศต้องทำงานหนักคือการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า นอกจากมะเร็งปากมดลูกแล้วมีเรื่องอื่นที่ต้องระวังในการมีเพศสัมพันธ์ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งท้อง 

สคส: เด็กๆ อาจเข้าใจว่าพอฉีดวัคซีนแล้วไม่มีความเสี่ยง ทำให้ประมาท

อรกัลยา: ค่ะ ประมาท แล้วก็จะไม่ใช้ถุงยางอนามัย เราต้องทำงานหนักเพื่อสื่อสารว่า ฉีดวัคซีนมาแล้ว ต้องใช้ถุงยางควบคู่กันไป เพราะถุงยางป้องกันท้อง ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แม้แต่มะเร็งปากมดลูก ฉีดวัคซีนแล้วก็ป้องกันได้แค่ 3-4 สายพันธุ์ แต่ไวรัสที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมีเป็นร้อยเป็นพันสายพันธุ์

สคส: ช่วงที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่อง “หมันหลุด”

อรกัลยา: ใช่ ทำหมันแล้วท้องค่ะ เป็นความรู้ใหม่ของพวกเราเหมือนกัน สมัยก่อน ทางเลือกที่เราจะคุมกำเนิดหลังคลอด และคิดว่าได้ผลดีที่สุด คือ ทำหมัน แต่เกิดปัญหา คือ ทำหมันแล้วท้อง แล้วไม่ใช่ทำปีนี้แล้วท้องทันที แต่ลูก 2 ขวบ 6 ขวบ แล้วอยู่ๆ แม่ท้องอีก เสื้อผ้าเด็ก ของเล่น ขวดนมไปไหนหมดแล้วไม่รู้ ถ้าเพิ่งมีลูกคนเดียวแล้วท้องยังไม่เป็นไร แต่พอดีมีลูก 3 คนแล้ว ไม่พร้อมที่จะมีอีกแล้วถึงได้ทำหมัน เราขอ 200,000 บาทจากการวิเคราะห์ว่า เพียงพอสำหรับเด็กคนหนึ่งที่คลอดโดยผู้ปกครองไม่ได้ตั้งใจ แต่กลายเป็นว่ามีแนวคิดจะยกเลิกทั้งหมด จากที่เคยจ่ายให้หลักหมื่น บอกว่า การทำหมันแล้วท้องเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้หญิงแข็งแรง ร่างกายจะปรับสภาพเอง ทำให้ท้องได้ ก็ยังเป็นเรื่องถกกันอยู่ว่าควรมีค่าเยียวยาหรือไม่

สคส: คือมองว่าไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากการให้บริการ

อรกัลยา: ค่ะ มีการเสนอว่า ก่อนทำหมัน คุณหมอ คุณพยาบาล ต้องให้ความรู้กับผู้หญิง ทำหมันแล้วก็ยังมีความเสี่ยงที่จะตั้งท้องได้ แล้วไงนะ คุณก็ควรใช้ถุงยาง หรือกินยาคุม เราก็เลยถามว่าทำหมันเพื่ออะไร ก็เพื่อไม่ต้องกินยาคุม ไม่ต้องใช้ถุงยาง ถูกไหมคะ เพราะตามหลักทั่วไป ผัวเดียวเมียเดียว ถึงวิธีคิดแบบนี้จะไม่ถูกทั้งหมด แต่คนก็คิดแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ ถ้าบอกว่าทำหมันแล้วยังต้องใช้ถุงยาง ยาคุม ใครจะอยากทำหมัน จะทำให้เจ็บตัวทำไม ทำแล้วยังมีสิทธิจะท้องได้อยู่

สคส: ข้อเสนอของเครือข่ายประเด็นผู้หญิงคืออะไร

อรกัลยา: เสนอว่า ถ้าจะยกเลิกมาตรการเดิม ก็ควรมีกองทุนเพื่อชดเชยกรณีทำหมันแล้วท้องโดยเฉพาะไปเลย ที่จะทำให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้

สคส: ฟังดูแล้ว ในบัตรทองมีบริการคุมกำเนิดหลายประเภท ทั้งการคุมกำเนิดถาวร คุมกำเนิดกึ่งถาวร คือ ใส่ห่วงและยาฝัง รวมทั้งยากิน และถุงยางอนามัย

อรกัลยา: ใช่ค่ะ ที่สำนักงานฯ แจกฟรีทุกอย่าง

สคส: ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ จะขอถุงยาง หรือรับบริการคุมกำเนิดต้องไปที่ไหน

อรกัลยา: ศูนย์สาธารณสุขของ กทม. 

สคส: ทำหน้าที่เหมือนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในต่างจังหวัด แต่มีคุณหมอประจำ

อรกัลยา: มีหมอประจำ แต่การไปขอถุงยาง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีการเย้าแหย่ “มาทำอะไร เอาไปทำอะไร” ถ้าเป็นเด็กไปขอก็จะมีการสั่งสอนเกิดขึ้น เด็กมาพูดให้ฟังว่า มาที่สำนักงานฯ ป้าอร ถอดรองเท้าอย่างเดียว แล้วเดินขึ้นไปหยิบได้เลย แล้วเราตั้งแยกไว้เลยว่าขนาด 49 /52/54 หยิบกันเอาเอง 

สคส: ถึงจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ฟังดูแล้วประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีพอสมควร

อรกัลยา: ระบบเราดีค่ะ ไม่รู้ทำไมจ้องจะล้มกัน แต่พี่น้องที่ใช้บัตรทองไม่ต้องตกใจ พวกเรา 48 ล้านคนนะคะ ใครก็ล้มเราไม่ได้ มันเป็นกฎหมายไปแล้ว และเป็นกฎหมายซึ่งหลายประเทศต้องมาดูงานที่ประเทศไทย ถามว่า พอฟรีแล้วชาวบ้านไม่ค่อยมีวินัยหรือไม่ ก็มีส่วน แต่ก็อยู่ที่พวกเราที่จะไปให้ความรู้ว่า การที่พวกเราได้รับสิทธินี้ เราจะรักษาสิทธิอย่างไร เราจะมีวินัยในการใช้สิทธิหน้าที่ของเราอย่างไร 

การยุติการตั้งครรภ์อยู่ในระบบบัตรทอง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ แต่เราอยากให้การตัดสินใจเป็นเรื่องของผู้ประสบปัญหาเองมากกว่า อยากให้ลดอคติว่า การทำแท้งเป็นบาป จะมีเด็กขี่หลัง ยืมคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่พูดว่า “ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ท้องเพื่อจะไปทำแท้ง” นะคะ 

สคส: ประเด็นผู้หญิงยังมีเรื่องใดที่ต้องขับเคลื่อนในหลักประกันสุขภาพ

อรกัลยา: เรื่องท้องไม่พร้อมค่ะ ที่จริงการยุติการตั้งครรภ์ก็อยู่ในระบบบัตรทอง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งก็ถูกต้อง แต่เราอยากให้การตัดสินใจเป็นเรื่องของผู้ประสบปัญหาเองมากกว่า อยากให้ลดอคติว่า การทำแท้งเป็นบาป จะมีเด็กขี่หลัง ยืมคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่พูดว่า “ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ท้องเพื่อจะไปทำแท้ง” นะคะ 

สคส: รวมถึงการใช้สิทธิหลังบาดเจ็บจากทำแท้งผิดกฎหมาย ก็เป็นปัญหาด้วยเหมือนกัน 

อรกัลยา: ใช่ค่ะ ยังลำบาก ต้องใช้วิธีโกหก ซึ่งไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะไม่ว่าผู้หญิงจะบาดเจ็บด้วยอะไรมาก็ขอให้รักษาโดยไม่ต้องตั้งคำถาม ถามว่าโรงพยาบาลรับหมดไหมก็รับค่ะ แต่การตั้งคำถาม การพูดกับคนไข้ พูดกับญาติคนไข้ ทำให้บางครั้งเกิดการปะทะกัน เกิดการไปโพสต์กัน ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น

สคส: ในบทบาทของคนทำงานภาคประชาชน มองประสบการณ์ทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างไร

อรกัลยา: เมื่อก่อน มีความคิดว่าเราควรทำงานกับภาคประชาชน เราก็ไม่ต้องไปทำงานกับภาครัฐ แต่ปรากฏว่า พอลงไปทำงานกับภาครัฐ เขาไม่ได้เลวร้ายนะคะ โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่น เขาอยากทำงานกับพวกเราด้วยซ้ำ แต่เขาไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เลยมีการอบรมกันว่า ถ้าอยากให้ภาครัฐในพื้นที่รู้จักเรา เราต้องไปเสนอหน้า คือไปให้เขารู้ว่าเราเป็นใคร อย่างนโยบายเรื่องคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.) ดูจากโครงสร้างคณะทำงานมีหลายภาคส่วนมาก เหมือนอยากให้ภาครัฐกับภาคประชาชนได้ทำงานร่วมกันกับส่วนท้องถิ่นด้วย เป้าหมายชัดเจนเลยคือ ให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เปิดกว้างไว้ให้เลือกประเด็นกันเองว่า จะทำเรื่องไหน ทุกภาคส่วนมาทำงานด้วยกัน สำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชนมีปากมีเสียง เขาต้องพึ่งเราเพราะเราอยู่ในชุมชน เราสามารถเสนอประเด็นได้เลย เจ้าของนโยบายคือกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ สามารถตั้งใครเป็นกรรมการก็ได้ เราอยากให้เครือข่ายผู้หญิงได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการของทุกอำเภอ

สคส: ทำให้เห็นว่า ภาคประชาชนมีช่องทางที่จะร่วมงานกับภาครัฐไม่น้อยทีเดียว 

อรกัลยา: ถ้าเราไม่... ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ไม่ถือทิฐิ ว่าเราต้องไปเดินตามภาครัฐ เราต้องไปเป็นตรายางให้เขา มองว่ามันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเข้าไปทำงานแล้วทำตัวให้ทัดเทียมเขา เราก็จะทัดเทียม แต่ถ้าไม่มีความคิดเห็น ไม่เสนออะไร เขาพูดอะไรมา เราก็ ค่ะ ก็คือตรายาง เคยประชุมร่วมกับท่านรองผู้ว่าฯ จำไม่ได้ว่าที่ประชุมกำลังคุยกันเรื่องอะไร ท่านหันมาเจออรกัลยา ถามออกไมค์ เออ คุณอรกัลยา ถุงอนามัยสตรีคืออะไร ที่ประชุมหัวเราะกันกลิ้งเลย นั่นคือ เขาจำได้ว่าเราทำประเด็นนี้ นึกได้ก็ถามขึ้นมาเลย เราก็ตอบออกไมค์ไปทำให้ทั้งที่ประชุมรับทราบกันหมด ว่าถ้าจะเอาถุงอนามัยสตรีต้องมาที่สำนักงานฯ ของอรกัลยา ก็ได้ประโยชน์กับงานของเรา

ถ้าไม่ถือทิฐิ ว่าเราต้องไปเดินตามภาครัฐ เราต้องไปเป็นตรายางให้เขา มองว่ามันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเข้าไปทำงานแล้วทำตัวให้ทัดเทียมเขา เราก็จะทัดเทียม แต่ถ้าไม่มีความคิดเห็น ไม่เสนออะไร เขาพูดอะไรมา เราก็ ค่ะ ก็คือตรายาง

สคส: เริ่มมาทำงานภาคประชาชนได้อย่างไร

อรกัลยา: จริงๆ เป็นมนุษย์เงินเดือนมานานมาก หยุดทำงานเพราะแต่งงานมีลูกตอนอายุเยอะแล้ว พอลูกเริ่มไปโรงเรียน เราก็เปิดร้านขายของ จนกระทั่งน้ำมาปี 2554 พัดจนชีวิตเปลี่ยน คือน้ำท่วมบ้าน 1.40 เมตรที่ปทุมธานี ก็ย้ายมาอยู่ศูนย์พักพิงที่ดอนเมือง แต่ปรากฏว่า ศูนย์พักพิงท่วม 3.20 เมตร รัฐพยายามให้ย้ายไปชลบุรี ราชบุรี เพราะมันไม่รอดแล้ว ส่งข้าวส่งน้ำไม่ได้ แต่พวกเราไม่ยอมไป เพราะตรงนั้นใกล้ปทุมธานี หลายคนห่วงบ้าน อยากจะกลับมาดูบ้าน ไม่ยอมออกก็ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ลุกขึ้นสู้ สู้จนอยู่กันมาได้ 

คนมาอยู่รวมกัน 478 คน ปัญหาเยอะ สามีภรรยาเครียด ไปอยู่บนนั้นไม่มีอะไรทำก็ทะเลาะกัน ส่วนใหญ่กลางวันไม่มีอะไร ร้อนก็ต่างคนต่างแยกกันไปหาที่นั่ง พอกลางคืนมักจะมีเรื่อง เราในฐานะแกนนำโดยธรรมชาติก็ต้องแก้ไขปัญหา ไม่ว่าเรื่องสุขภาพ บางคนอยู่ๆ  หัวใจจะวาย แน่นหน้าอก ข้างล่างน้ำ 3 เมตรกว่าก็ต้องแบกกันใส่เรือ หรือโทรศัพท์หาทหาร โบกไม้โบกมือโบกผ้า คือทำทุกอย่าง แก้ไขเรื่องการตีกัน ลูกหายก็มี มันมืด ไม่มีไฟ ลูกหาย ต้องเดินตามหากันทั้งคืน 

อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง ตลอด 2 เดือนกว่า ก็สนิทกัน ด้วยความที่เห็นว่าเราเป็นแกนนำ หนึ่งเดือนหลังลงจากดอนเมือง มีการนัด เหมือนเลี้ยงรุ่นค่ะ โดยมูลนิธิชุมชนไทยมาเป็นพี่เลี้ยง นัดมาเจอกันเพื่อสอบถามว่า เมื่อกลับเข้าชุมชนแล้วมีปัญหาอะไรบ้าง 

สคส: เรื่องการซ่อมบ้าน ความเสียหายต่างๆ

อรกัลยา: เปล่าคะ หนึ่ง รถถูกยึด เจ้าหนี้ที่ไปกู้ไว้มาตาม บางคู่ผัวเมียเลิกกันเลย ลูกหนีออกจากบ้าน คือ เรื่องเยอะมากค่ะ ต้องค่อยๆ แก้กันไปทีละชุมชน เราเริ่มบอกกับพี่ๆ มูลนิธิชุมชนไทยว่า สงสัยจะไม่ไปหางานทำ จะไม่ลงทุนการค้าอะไรแล้ว อยากทำงานชุมชน วันนั้น ไม่รู้คิดอะไรนะคะ อย่างหนึ่งคืออยากตอบแทนพวกพี่ๆ ด้วย เพราะยามที่เราจะอด พี่ๆ ขึ้นไปช่วย ไปสอนเราให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ได้ทำอะไรตลอด 24 ชั่วโมงนี่บ้าได้ง่ายๆ นะคะ ถ้าไม่มีคนมาคอยเตือนสติ ทุกวันนี้ ก็เคารพพี่ๆ มูลนิธิชุมชนไทย และพี่ๆ จากบ้านน้ำเค็ม พวกพี่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นเอ็นจีโอทั้งหลาย เป็นอาจารย์ของเรา มาเป็นพี่เลี้ยงให้เราช่วยชุมชน 

เราเจอบางคนเป็นโรคเรื้อรังๆ เป็นโรคประจำตัว ก็ไม่สามารถออกไปหางานทำได้ หลังปี 54 หลายโรงงาน-บริษัทก็ปิด เราก็ต้องไปวิ่งช่วย บางคน โรงงานไม่ปิดแต่ไม่รับให้ทำงาน เพราะขาดงาน 2-3 เดือน โดยไม่ดูเหตุผลว่าน้ำท่วม มาทำงานไม่ได้ ก็ต้องไปสู้เรื่องสิทธิให้เขา บางคนพอลงจากศูนย์พักพิง สามีเลิก เราก็ไม่รู้ว่าตอนอยู่บนนั้นมีปัญหาอะไร กลับมาเลิกกัน ผู้ชายทิ้งลูกไว้ให้ภรรยา บ้านก็ต้องซ่อม สามีหนีไปแล้ว มีกรณีแบบนี้เยอะมาก มีอยู่คู่หนึ่ง ทำร้ายร่างกายกัน ผู้ชายเอาเก้าอี้ฟาดผู้หญิง ผู้หญิงก็สวนด้วยมีด ผู้ชายเสียชีวิต เราก็วิ่งช่วยกัน เพราะลูกยังเล็ก ทีนี้เรื่องพวกนี้ไม่ได้ทำเสร็จภายในวันสองวันค่ะ ก็เริ่มรู้แล้วว่า ถ้าเราจะช่วยผู้หญิงด้านสิทธิ เราต้องมีความรู้อะไรบ้าง ก็เริ่มไปทุกที่ที่มีอบรม ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ขอให้รู้ บางทีเขาบอกไม่ได้เชิญ ไม่มีเก้าอี้ให้เรานั่ง ไม่มีข้าวให้เรากิน ไม่มีเบรค เราก็ยืนฟังเพื่อจะเอาความรู้กลับมาช่วยคนในชุมชน 

ผ่านไปเป็นปี ได้มารู้จักระบบหลักประกันสุขภาพ อ้าว นี่บัตรทอง เราก็มีสิทธิบัตรทอง แต่ไม่ได้ป่วยก็ไม่ได้ใช้ พี่คนหนึ่งไม่ว่าง ให้ช่วยไปประชุมแทน พอไปได้เจอพี่ๆ หลายคน ที่เป็นเอ็นจีโอรุ่นใหญ่ แล้วเราก็รู้สึกว่า เออ บัตรทอง สิทธิเยอะนะ ก็เริ่มศึกษาเลยค่ะ เออ มันดีแฮะ เริ่มไปให้ความรู้กับคนในชุมชนที่เคยทำงานประจำ มีสิทธิประกันสังคม พอถูกไล่ออกก็มาใช้มาตรา 39 โดยจ่ายเอง ก็เป็นภาระ ไปบอกให้เลิกหมดเลยค่ะ แล้วมาใช้บัตรทอง เราไปให้ความรู้กับพี่น้อง โดยไม่มีงบอะไรเลยนะคะ ชวนกันมาหุงข้าวกินกัน แล้วก็นั่งคุย 50 คน คุยเสร็จไปยกเลิกประกันสังคม ซึ่งต้องใช้เวลา 6 เดือนถึงจะเริ่มได้สิทธิบัตรทอง พอดีมีคนในชุมชน มอเตอร์ไซด์ล้ม มีอาการเหมือนเลือดคั่งในสมอง ต้องผ่าตัด เราก็โทรศัพท์ไปถาม สปสช. บอกว่าใช้บัตรทองได้เลย ผ่าไป 200,000 กว่าบาท ไม่ต้องจ่ายเลยสักบาท โอ้ ตอนนั้น อรกัลยาดังมากเลยค่ะ ทุกคนวิ่งหา เฮ้ย บัตรทองมันดีขนาดนั้นเลยเหรอ 

สคส: ทั้งที่สิทธิเหล่านี้ ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ไม่รู้สิทธิของตัวเอง

อรกัลยา: มีอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ค่ะ ไม่มีใครรู้ ตอนนั้นเลยดังมาก มีแต่คนวิ่งมาถาม พวกพี่ๆ บอกว่า เปิดสำนักงานเถอะ สปสช.จะได้เข้ามาช่วยเรา เลยเปิดสำนักงาน ปี 2557 สปสช.มาสนับสนุนเรื่องเอกสารต่างๆ เราก็วิ่งทำงานในชุมชนจนปี 2558 เขาเรียกไปอบรมให้รู้เรื่องมาตรา 50 (5) ก็ทำมาตลอดจนถึงวันนี้ค่ะ