บทความ / ข่าว

จับกระแสครอบครัวไทย คุณภาพชีวิตเด็กเป็นอย่างไร
25/05/2018 11:38

เนื้อหาจากรายการพิกัดเพศ รายการโดย สคส.ทาง thaiPBSradio.com คุยกับ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าด้วยสถานการณ์ครอบครัวไทย และการเติบโตของเด็กและเยาวชนในวันนี้

สคส: สถานการณ์ครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา ดีขึ้นหรือแย่ลง

ณัฐยา: คงไม่ใช่ ดีหรือแย่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราจะต้องรู้เท่าทันว่าสังคมกำลังเคลื่อนไปแบบนี้ ก่อนจะเจาะเรื่องครอบครัว ภาพรวมของประชากรไทย เราอยู่ในช่วงที่เรียกว่าเกิดน้อยลง 40 ปีที่แล้ว การเกิดสูงสุดคือ เกิน 1,000,000 คนต่อปี แต่ช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา ลดลงเยอะ ปีล่าสุดเหลือไม่ถึง 700,000 คน

สคส: เรากำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย

ณัฐยา: ใช่ค่ะ สังคมสูงวัย ไม่ได้แปลว่าเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มประชากรอื่นนะคะ แต่คือมีในสัดส่วนที่เรียกได้ว่ามาก มากพอที่จะทำให้ต้องมีการดูแลกันอย่างดี สภาพโดยรวมแบบนี้ คนมักเข้าใจผิดว่า สังคมปัจจุบันซึ่งดูเหมือนต้องปากกัดตีนถีบเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าสมัยก่อน ครอบครัวเดี่ยว ที่หมายถึงมีพ่อแม่ลูก น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ ครอบครัวขยายต่างหาก ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คือมีปู่ ย่า ตา ยาย มาช่วยดูแลหลาน 

สคส: เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมาหรือ

ณัฐยา: เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีการศึกษาเจาะลึกลงไปว่าเป็นเพราะอะไร อีกอย่างที่พบในแง่ของแนวโน้มครอบครัว คือมีความหลากหลายสูง เช่น อยู่คนเดียว คู่ที่เป็นเพศเดียวกัน อยู่กับคนที่ไม่ใช่สายเลือด ไม่ใช่คู่สมรส อยู่บ้านเดียวกัน อาจมีการแชร์ค่าใช้จ่ายกัน หรือแม้แต่อยู่กับสัตว์เลี้ยง

สคส: สภาพแบบนี้จะยังเรียกว่าเป็นครอบครัวได้หรือไม่

ณัฐยา: นำไปสู่การตั้งคำถามและให้ข้อเสนอแนะ ว่าประเทศที่นำหน้าเราไปแล้ว เขาจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร ที่สำคัญ คือการตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ซึ่งก็คงมีคำตอบว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพิจารณาคำว่า “ครอบครัว” ในความหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิม คำพูดติดปาก ประเภทว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ คือ พ่อ แม่ ลูก น่าจะต้องเปลี่ยนไป เพราะไม่สะท้อนความจริงของครอบครัวทั้งหมด ซึ่งมีความหลากหลาย

สคส: ถ้ายังใช้นิยามเดิม ก็เหมือนว่าไม่มีใครมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบอยู่เลย

ณัฐยา: ใช่ เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะถ้าหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับครอบครัวตีโจทย์ถูก สิ่งที่หน่วยงานจัดให้ ทั้งนโยบาย ระบบบริการ สวัสดิการครอบครัว แม้กระทั่ง สินค้า ภาคธุรกิจ ถ้าเข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงของครอบครัวไทยว่ามีความหลากหลายแบบนี้ เราจะไม่ผลิตสินค้าและบริการเฉพาะสำหรับครอบครัวที่มีความหมายแบบดั้งเดิม ต้องเปลี่ยนหมดเลย เพื่อให้ครอบคลุมทุกคน แต่ต้องยอมรับว่า ถึงตอนนี้วิธีคิดยังไม่เปลี่ยนจากเดิมสักเท่าไร ซึ่งถ้าเริ่มจากการยอมรับในข้อมูลข้อเท็จจริง ก็น่าจะคิดหาวิธีปรับปรุงนโยบายต่างๆ ได้ไม่ยาก

สคส: ในสถานการณ์ครอบครัวแบบนี้ มีผลอย่างไรกับเรื่องเพศของเด็กและเยาวชน

ณัฐยา: ถ้าดูจากสถานการณ์ที่เราคุยกันเยอะ เช่นเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับการต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา ซึ่งสมัยนี้เรียกว่าเพศวิถีศึกษา ผลการศึกษาวิจัย บอกชัดเจนมากว่าเริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี ในครอบครัวเลยก่อนจะเข้าโรงเรียน พอเข้าโรงเรียนปุ๊บก็ให้อย่างเหมาะสมไปตามช่วงวัย เรื่องเพศมีความละเอียดอ่อน เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นมา การให้การดูแลเรื่องสุขภาพ และสวัสดิการสังคมต้องมีคุณภาพพอ ถึงจะมีกฎหมายที่ประกันสิทธิของเด็กวัย 10-20 ปีให้ได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน แต่เมื่ออยู่ในระบบการศึกษามันเปลี่ยนแปลงช้ามาก 

สคส: นี่คือมองในมุมที่ว่า เด็กไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของครอบครัวเพียงอย่างเดียว

ณัฐยา: ใช่ เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อม อยู่ในสถาบันต่างๆ ที่ต้องช่วยกันดูแล สสส.ทำงานด้วยแนวคิดว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคน ต้องทำงานคู่ขนาน ทั้งการเพิ่มทักษะ ความรู้ทักษะส่วนบุคคล พร้อมไปกับการปรับสภาพแวดล้อมทางสังคม ถ้าเราเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เด็กต้องมีทักษะระดับบุคคล คือความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติที่ถูกต้อง รวมทั้งทักษะที่เหมาะสม เด็กอยู่ในครอบครัว ไม่ว่าจะครอบครัวแบบไหน ครอบครัวต้องมีขีดความสามารถที่จะบ่มเพาะสมาชิกใหม่ให้มีมุมมองในเรื่องเพศที่ไม่ติดกรอบหญิง กรอบชาย แต่ก้าวข้ามเพื่อจะพัฒนาได้เต็มสมรรถภาพของความเป็นมนุษย์ของเด็กคนหนึ่ง ครอบครัวมีสมรรถภาพแบบนี้แล้วหรือยัง 

สคส: ซึ่งไม่เกี่ยวกับรูปแบบครอบครัวแต่ละประเภทที่ว่ามาตอนต้น

ณัฐยา: ไม่ว่าจะครอบครัวประเภทไหน เรายังไม่เคยเห็นการก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ โรงเรียนและสื่อที่เป็นกระแสหลักอยู่ก็เช่นกัน ถ้าถามว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรและครอบครัวไทยแบบนี้ ประเด็นเรื่องเพศของเด็กเยาวชนเปลี่ยนไปด้วยหรือเปล่า มันแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยน ซึ่งสะท้อนว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องพิเศษจริงๆ สามารถที่จะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปขนาดไหน 

สคส: เรื่องเพศเป็นเรื่องทัศนคติ

ณัฐยา: ใช่ เป็นเรื่องที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม มากกว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น

สคส: ถ้าพูดว่า ไม่ว่าจะครอบครัวจนหรือรวย ครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย ไม่ได้มีผลที่จะทำให้เด็กปลอดภัยจากเรื่องเพศ ใช่หรือไม่

ณัฐยา: พูดอย่างนี้ก็อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบไหนน่าจะไม่มีผลกับกระบวนการบ่มเพาะเด็กในเรื่องเพศ ถ้าพูดถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ภาพรวมของข้อมูลในระดับประเทศค่อนข้างชี้ไปในทางว่า ปัญหาเกิดกับเด็กที่อยู่ในฐานะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างไม่ดีมากกว่าครอบครัวที่ฐานะเศรษฐกิจดี ซึ่งยังไม่มีการศึกษาลึกลงไปว่าเป็นเพราะอะไร แต่ในหลายประเทศมีการศึกษาแบบติดตามชีวิตเด็กค่อนข้างยาว จะพบว่าความยากจนมักจะมาพร้อมกับเรื่องการศึกษา ซึ่งมักจะน้อยหรือได้คุณภาพไม่ได้เต็มที่ และค่อนข้างผูกกันกับเรื่องเพศของเด็ก แต่บ้านเราจะพูดแบบนั้นแบบเต็มปากเต็มคำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการศึกษาระยะยาว

สคส: ข้อมูลที่มีอยู่ค่อนข้างหยาบ ทำให้ไม่เข้าใจสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน

ณัฐยา: ใช่ค่ะ แต่ถ้าลองมองไปรอบตัว เราอาจเห็นรูปแบบนี้อยู่บ้าง เช่น คนที่เป็นยาย เป็นย่า ในวัยปลาย 40 ต้น 50 แต่ตอนนี้อาจจะเป็นวัยปลาย 30 หรือกลาง 40 ซึ่งอดีตก็เป็นแม่วัยรุ่น แล้วถ้าเราศึกษาประวัติครอบครัวย้อนไปอีกอาจพบก็ได้ ในต่างประเทศมีการศึกษาแบบนี้จะเห็นชัดว่าทำให้คนตกอยู่ในวงจรของความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น

ถ้าดูจากผลการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดต่างๆ เราพบว่าสถิติไม่ต่างจากเดิม สิ่งที่พบคือวัยรุ่นมีความเข้าใจผิดเรื่องเพศอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้เปลี่ยน เพราะฉะนั้น สมมุติฐานของผู้ใหญ่ว่า ไม่ต้องสอนแล้วเรื่องเพศ เด็กรู้มากกว่าเราจึงไม่จริง

สคส: มุมมองเรื่องเพศของครอบครัวและสังคมไทยมีข้อจำกัดอย่างไร

ณัฐยา: เรามักจะเข้าใจผิดว่า เด็กสมัยนี้เข้าถึงสื่อ โอ้ย เรื่องเพศไม่ต้องไปสอนแล้ว เด็กรู้มากกว่าเราทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่ไม่ใช่ ถ้าดูจากผลการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดต่างๆ เราพบว่าสถิติไม่ต่างจากเดิม สิ่งที่พบคือวัยรุ่นมีความเข้าใจผิดเรื่องเพศอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้เปลี่ยน เพราะฉะนั้น สมมุติฐานของผู้ใหญ่ว่า ไม่ต้องสอนแล้วเรื่องเพศ เด็กรู้มากกว่าเราจึงไม่จริง แล้วถ้าเราเชื่อแบบนั้นก็จะเป็นภาพบังตาไม่ให้เราก้าวไปให้มากกว่านั้น เช่นเรื่องเพศวิถีศึกษาผลักดันไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ไม่ต้องสอน เด็กเรียนรู้ได้จากสื่อต่างๆ ประเด็นที่ไม่ได้ตั้งคำถาม คือ เรียนรู้ถูก หรือเรียนรู้ผิด

สคส: การเลี้ยงดูเด็กที่แบ่งแยกเด็กหญิงและเด็กชาย มองว่าสร้างปัญหาอย่างไร

ณัฐยา: เวลาเราพูดถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายของผู้ใหญ่ เรามักไม่คิดว่ามันเริ่มต้นตั้งแต่วิธีการถูกเลี้ยงดูในครอบครัว ซึ่งครอบครัวก็รับมาจากสังคม เอาง่ายๆ เลย พอรู้ว่าเราจะมีลูกเพศไหน เราก็จะเตรียมวิธีการเลี้ยงดูแบบหนึ่ง เราจะสอนให้ลูกชายหรือลูกสาว ทำหรือไม่ทำอะไร เรียนรู้หรือไม่เรียนรู้อะไร แต่ถ้าไม่ยึดติดแบบนั้น ลูกก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังจะเกิดมาบนโลกใบนี้

สคส: เช่น ลูกสาวและลูกชายควรจะมีของเล่นต่างกัน

ณัฐยา: สมมติว่าคุณซื้อลูกฟุตบอลให้ลูกสาว หรือซื้อหม้อข้าวหม้อแกง 1 เซ็ตให้ลูกชายได้เล่น ถ้าพ่อแม่ฟังแล้วกึ้กขึ้นมาว่า เฮ้ย ทำไมพูดแบบนี้ ก็แปลว่า เราอยู่ในร่องของความคิดว่า ถ้าเป็นผู้หญิง เลี้ยงดูแบบนี้ ถ้าเป็นลูกชาย เลี้ยงดูอีกแบบหนึ่ง

สคส: เด็กผู้หญิงเล่นหม้อข้าวหม้อแกง ไม่ดียังไง

ณัฐยา: ดีค่ะ และดีสำหรับเด็กผู้ชายด้วย เพราะเป็นการฝึกวิธีคิดและทักษะที่จะจัดการกับอาหารการกิน โตขึ้นมาก็หาอาหารกินเองเป็น ถ้าเราบอกว่า มันดีนะ แต่ดีสำหรับผู้หญิงเท่านั้น ถ้าผู้ชายมาเล่นด้วย ไม่ดีแล้ว นั่นคือการแบ่งแยก เพราะถ้าดี ต้องดีสำหรับทุกคน ทักษะที่ดีในการดำรงชีวิตต้องสอนทุกคน หลักคิดมีอยู่แค่นี้เอง ถ้าครอบครัวคิดใหม่ แล้วฝึกกันใหม่ เราจะได้มนุษย์รุ่นใหม่ที่มีทักษะในการดำรงชีวิต ดูแลตัวเอง ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น อย่างน้อยที่สุด เรื่องการกินการอยู่ การทำความสะอาดเสื้อผ้า หน้า ผม ตัวเอง การทำความสะอาดบ้านเรือน บ้านช่อง ที่อยู่อาศัย

ถ้าเราบอกว่า มันดีนะ แต่ดีสำหรับผู้หญิงเท่านั้น ถ้าผู้ชายมาเล่นด้วย ไม่ดีแล้ว นั่นคือการแบ่งแยก เพราะถ้าดี ต้องดีสำหรับทุกคน ทักษะที่ดีในการดำรงชีวิตต้องสอนทุกคน หลักคิดมีอยู่แค่นี้เอง ถ้าครอบครัวคิดใหม่ แล้วฝึกกันใหม่ เราจะได้มนุษย์รุ่นใหม่ที่มีทักษะในการดำรงชีวิต ดูแลตัวเอง ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

สคส: การเลี้ยงดูเด็กแบบแยกเพศ สร้างปัญหาเรื่องเพศเมื่อเด็กโตเป็นวัยรุ่นและเป็นผู้ใหญ่อย่างไร

ณัฐยา: วิธีการเลี้ยงดูส่งผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมในอนาคตของเด็ก ความรุนแรงที่กระทำต่อกัน การหลอกลวง หรือพฤติกรรมทางเพศแบบต่างๆ การใช้อำนาจระหว่างเพศ ล้วนแต่เชื่อมโยงกันกับการเลี้ยงดู ในประเทศอังกฤษเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ มีการรวมตัวของผู้ผลิตสินค้าและบริการที่สัญญากันว่า จะผลิตสินค้าและบริการสำหรับเด็กโดยไม่แบ่งแยกเพศ พยายามขจัดสิ่งที่เรียกว่า Gender bias ซึ่งไม่ได้ทำแต่เรื่องเพศ แต่ยังรวมถึงขจัดการแบ่งแยกสีผิว ความแตกต่างทางศาสนา จะทำให้เกิดสินค้าและบริการที่มีความเป็นกลาง

สคส: พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงลูกแยกเพศ เพราะอยากให้ลูกเติบโตตรงกับเพศที่เกิดมา

ณัฐยา: คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องความหลากหลายทางเพศก็ได้นะคะ อันนั้นแยกไว้ก่อน แต่มองที่ลูกของเราแล้วคิดว่าอะไรสำคัญที่สุดในการที่เราเลี้ยงลูกทุกวันนี้ เราอยากให้เขาเติบโตเป็นคนดี มีความสุข สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตตัวเองได้ ไม่ทุกข์เกินไป ใช่ไหมค่ะ ซึ่งไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย

สคส: เป็นห่วงว่า ถ้าลูกโตไปไม่ตรงตามเพศที่เกิดมา ชีวิตจะยากลำบาก

ณัฐยา: การกดทับมิติเรื่องเพศของคนๆ หนึ่งเอาไว้ ทำให้เขามีความทุกข์ เหมือนถูกขังอยู่ข้างในลึกๆ มีหลายครอบครัวมากนะคะที่สามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างสมดุล คือให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็ให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยว่า เมื่อเจอสังคมภายนอก เขาจะรับมืออย่างไร เมื่อผิดหวัง เสียใจ จากสังคม พ่อแม่ไม่ซ้ำเติมในสิ่งที่เขาเป็น แต่ชี้ให้เห็นว่า มันเป็นแบบนี้เพราะสังคมเราเป็นแบบนี้ ผ่านไปทีละแบบฝึกหัด ลูกจะเข้มแข็งขึ้นจากภายใน เราเห็นมาแล้วในหลายครอบครัวที่ยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น แล้วทำให้ลูกเข้มแข็ง เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะรับมือกับสังคมภายนอกได้ สำคัญที่สุดเลย คือขอให้บ้านเป็นพื้นที่ซึ่งเขาได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง แล้วความเข้มแข็งจะเกิดขึ้นเองจากตัวของเขา 

สคส: งานเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่คุณดูแลเป็นอย่างไรบ้าง

ณัฐยา: เวลาพูดถึงงานเด็ก เยาวชน และครอบครัว ต้องมองให้ครบทุกมิติของความเป็นคน เราไม่ได้พูดว่า งานเด็กผู้หญิง งานเด็กผู้ชาย หรือว่างานเพศอะไร เด็กก็คือเด็ก ส่วนคำว่า “ครอบครัว” ย้อนกลับไปที่เราพูดช่วงแรกว่า คนวันนี้ไม่ค่อยอยากมีลูก ชีวิตครอบครัวก็เป็นทางเลือกที่คนก็ไม่อยากเลือกก็เยอะ การสำรวจความคิดเห็นพบว่า มีลูกคือมีภาระ เพราะยุคนี้ต้องซื้อทุกอย่าง ค่าใช้จ่ายเยอะ ใช้เวลาด้วย ขัดกับชีวิตที่ต้องไปทำงาน แล้วต้องมารับส่งลูก ต้องเลี้ยงลูก ประเด็นอยู่ที่ว่า เราเป็นสังคมที่เรียกว่า Child-friendly เป็นมิตรกับเด็กแล้วหรือยัง ถ้าไม่ใช่ ก็เป็นธรรมดาที่ปัจเจกคนหนึ่งจะบอกว่า ไม่ไหวอ่ะ ต่อให้มีคู่ สองคนมองหน้ากันแล้วก็บอกว่า ยังไม่ไหวอยู่ดี 

สคส: ทำอย่างไรจะสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับเด็ก เพื่อจะจูงใจให้คนอยากมีลูกได้

ณัฐยา: ต้องบอกก่อนว่า แทบไม่มีประเทศไหนประสบความสำเร็จในการทำให้คนมีลูกกันมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องปัจเจกมากๆ สิ่งที่เจอคือ ระบบสวัสดิการสังคมต้องดีมาก นโยบายเพื่อเด็กและครอบครัวจะรอบด้าน ภาคเอกชนต้องทำ หน่วยงานภาครัฐต้องทำ โรงเรียน ชุมชน ต้องเอื้อหมดเลย จึงจะทำให้คนที่จะมีครอบครัว แต่งงาน หรือว่ามีคู่ มีลูก และดูแลลูกได้ง่ายขึ้น เช่น ให้สิทธิพิเศษแก่ครอบครัวที่มีลูกเล็ก อย่างค่ารักษาพยาบาลมากหน่อยในช่วงปีแรกๆ เพราะเด็กต้องฉีดวัคซีนโน่นนี่นั่น อาจจะไม่สบายบ่อย หาหมอบ่อย โตขึ้นหน่อยอาจจะน้อยลง แต่ไปเพิ่มเรื่องอื่นแทน ภาคธุรกิจต้องได้รับการจูงใจ เช่น ใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้มีนโยบายที่จะเอื้อให้พนักงานมีครอบครัวโดยไม่ให้รู้สึกว่าเป็นภาระ ต้องไปด้วยกันทั้งระบบ

สคส: สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีข้อเสนออย่างไร

ณัฐยา: ถ้าดูนโยบายตอนนี้ ยอมรับว่ายังต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง ถ้าจะให้สังคมไทยไปถึงสังคมที่เป็นมิตรกับเด็กและครอบครัว ภารกิจของ สสส.ซึ่งเป็นหน่วยงานสร้างเสริมสุขภาพ เน้นการมองในมิติของสุขภาวะ คือไกลกว่าคำว่าสุขภาพ เป็นคุณภาพชีวิตในมิติเรื่องสุขภาพ สิ่งที่พบในแง่ของสถานการณ์เด็กของประเทศ คือเด็กช่วงปฐมวัยมีสถานการณ์เรื่องพัฒนาการที่ไม่สมวัยเยอะ ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องอ่านออกเขียนได้ ซึ่งอัตราการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้หรือเขียนได้ไม่คล่องในกลุ่มเด็กไทยถือว่าค่อนข้างสูง หลายฝ่ายโทษระบบการศึกษา แต่ลึกๆ แล้วต้องย้อนกลับมาดูด้วยว่า คุณภาพการดูแลเด็กปฐมวัย หมายถึงตั้งแต่เกิดจนถึงเข้าอนุบาลเป็นอย่างไร เรามีความเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กมากน้อยแค่ไหน เป็นปัญหาเรื่องการไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งในฝั่งครอบครัว ครูที่ดูแลเด็กเล็ก ไปจนถึงระดับอนุบาล

สคส: เรายังมองเด็กปัญญาทึบ เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ว่าเป็นปัญหาของเด็ก

ณัฐยา: ใช่ แต่อย่าลืมว่า เหรียญมีสองด้าน ที่พูดว่าเด็กปัญญาทึบ หรือเด็กสมาธิสั้น เป็นหนึ่งกอง แต่อีกด้านนึงของเหรียญ การศึกษาของเราเน้นให้เด็กแข่งขัน อนุบาลต้องแข่งกันสอบเข้า ป.1 แล้วคัดเด็กที่ตกเกณฑ์ออก เป็นแบบนี้คุณภาพการศึกษาไทยโดยรวมก็จะไม่ดีขึ้น แต่ถ้ามองเชิงลึก ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษา เด็กอยู่ในครอบครัว การดูแล ความรู้เรื่องการดูแลเด็กช่วงปฐมวัยเป็นสิ่งที่พ่อแม่ หรือคนดูแลต้องมี ทาง สสส.พัฒนาขึ้นมาในหลากหลายรูปแบบ สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.khunlook.com ส่วนในช่วงที่เข้าโรงเรียน เราทำโครงการด้านสุขภาวะหลากหลายรูปแบบ กลุ่มเป้าหมายใหญ่ คือโรงเรียนขนาดเล็กที่ดูแลเด็กจากครอบครัวที่มีความยากลำบาก เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนสุขภาวะ กระจายอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศ ทำคู่ไปกับอีกหลายภาคี 

เด็กโตขึ้นมาหน่อยเป็นวัยรุ่น ลักษณะการสนับสนุนจะเน้นการพัฒนาศักยภาพ ทักษะความสามารถ อาชีพ และการรวมกลุ่มเป็นองค์กรเยาวชน เพื่อจะรวมพลังส่งเสียงความต้องการ หรือคิดทางออกใหม่ๆ ให้กับชุมชนของตัวเอง มีโครงการน่ารักๆ อย่างน้องๆ สภาเด็กฯ ที่อุตรดิตถ์ สังเกตว่า พระสงฆ์ในจังหวัดตัวเอง น้ำหนักเกินกันเยอะ สสส.มีงานส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ น้องก็ไปเรียนรู้มา แล้วไปติดต่อให้โรงพยาบาลเข้าไปตรวจสุขภาพพระในวัด แล้วเริ่มใช้กลวิธีต่างๆ ในการทำให้ญาติโยมเอาอาหารไปถวายที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น มีการบันทึกข้อมูลละเอียด วันนี้ ญาติโยมเอาอะไรไปถวายบ้าง ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง พระก็เทศน์ให้ความรู้เรื่องโภชนาการด้วย พอวัดผลปลายทางอีกที น้ำตาลลง ไขมันลง อันนี้ยกตัวอย่างว่า งานสนับสนุนเยาวชน เราจะเน้นให้เยาวชนเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมในวันนี้เลย ไม่ต้องรอวันหน้า ซึ่งเรามีงานกับเด็กทั้งในและนอกระบบการศึกษา

สคส: เราจะสร้างความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมไทย เพื่อให้สามารถดูแลเด็กและเยาวชนได้อย่างไร 

ณัฐยา: เรื่องเพศกับงานเด็ก เยาวชน และครอบครัว เราเห็นชัดนะคะว่า ถ้าครอบครัวสามารถที่จะบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้เป็นมนุษย์ที่เต็มศักยภาพ ไม่ติดอยู่ในกรงขังเรื่องเพศ ว่าเป็นเพศอะไร ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการสร้างสังคมใหม่ที่เราบอกว่า มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม มีการยอมรับในความแตกต่าง ซึ่งเริ่มได้ที่บ้าน แล้วขยับกันต่อให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ปราศจากการแบ่งแยกเพศ เป็นพื้นที่ที่บ่มเพาะศักยภาพความเป็นมนุษย์ เราดูรายการทีวี ฟังรายการวิทยุ มีการสื่อสารที่มันตอกย้ำอคติในเรื่องเพศ หรือว่ามีการสื่อสารที่แบ่งแยกคน และก็ดูถูกคนเพศต่างๆ เราก็จะสามารถบอกได้ว่า เฮ้ย ฉันไม่ต้องการแบบนี้ เพราะฉันดูแลลูกหลานมาในครอบครัวแบบนี้ ฉันต้องการสื่อที่ไม่ตอกย้ำเรื่องเก่าๆ แต่ต้องการมองไปข้างหน้า และก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กันค่ะ