บทความ / ข่าว

“ผู้หญิงประหลาด” สู่ “ผู้หญิงอีสานร่วมสมัย”
20/04/2018 23:09

รายการพิกัดเพศ ทาง ThaiPBSradio คุยกับ “แววดาว” วิลาวัณย์ เวียงทอง ศิลปินรุ่นใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร เธอสร้างผลงานเพื่อนำเสนอเรื่องสิทธิผู้หญิง จุดเริ่มต้นด้วยแรงบันดาลใจจากความสนใจใคร่รู้และต้องการสื่อสารผ่านผลงานศิลปะในเรื่องราวใกล้ๆ ตัว ก่อนขยับไปสู่ประเด็นบทบาทผู้หญิงในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของไทยร่วมสมัย

วิลาวัณย์ เวียงทอง

สคส: ทำไมถึงสนใจประเด็นผู้หญิง?

    เรียนด้านศิลปะก่อนจบต้องทำโปรเจ็กต์ แววสนใจเรื่องของตัวเองที่เป็นเพศหญิง แล้วเริ่มทบทวนว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เราสนใจประเด็นนี้นอกจากการเป็นผู้หญิง หนึ่ง ครอบครัวของเราทุกคนเป็นผู้หญิง และเราเสพสื่อที่เป็นแอนิเมชันมีความเป็นแฟนตาซี นิยายผู้หญิง เลยอยากเข้าไปศึกษา และมีแรงบันดาลใจในการเอาตัวตนที่อยู่ในจินตนาการที่อยากวาดเป็นตัวการ์ตูน ให้ปรากฏในโลกความเป็นจริง เลยทำให้เป็นศิลปะประเภท Performance ผ่านสื่อหลายแบบ เช่น เป็นวิดีโอ เป็นภาพถ่าย 

สคส: “ตัวตนแห่งจินตนาการ” ที่เป็นผลงานเกี่ยวกับผู้หญิงชิ้นแรก เลยกลายเป็นแบรนด์ของเราไป

    “ตัวตนแห่งจินตนาการ” มีตัวละครผู้หญิง 4 ตัว คือ “จูปีเตอร์” ผู้หญิงที่มี 3 ขาใส่ชุดเหมือนคอสเพลย์, “สโนว์ไวท์” แต่งชุดสีขาว สวย แต่มี 4 มือ คือออกจากหน้าอก 2 มือ, มิกะจัง เป็นเตียงที่มีหลายๆ มือโผล่ออกมา โดยเราเข้าไปอยู่ในเตียง อีกตัวชื่อ “มะขวิ่น” เป็นผู้หญิงที่แต่งตัวได้ทุกรูปแบบ แต่ว่าหัวโล้น 

สคส: เวลาจัดแสดงงานคือเราต้องแต่งชุดพวกนี้เอง?

    ใช่ค่ะ แต่นำเสนอได้หลายรูปแบบตามสถานการณ์ของงาน เช่น ถ้าเป็นหอศิลป์ เราก็จัดเป็น Live performance ได้เป็นรอบๆ หรือจะจัดแสดงภาพถ่ายหรือวิดีโอก็ได้เพราะสามารถแสดงได้ตลอดเวลา 

ผู้หญิง 3 ขา

สคส: ความหมายของงานชุดนี้คืออะไร 

    แต่ละเรื่องต่างกัน แต่อยู่ในเรื่องของผู้หญิง เรื่องความปราถนาลึกๆ ของตัวเอง จริงๆ แล้ว มันเกิดจากความต้องการที่เราอยากจะเป็นใครสักคนในสังคม แต่ไม่สามารถที่จะเป็นได้ เราเลยสร้างตัวตนที่มีความแฟนตาซีขึ้นมา และเรียกร้องการยอมรับจากคนรอบข้าง แต่พอทำไปก็ได้รับแรงบันดาลใจอันหนึ่งคือ เราอยู่ในสังคมศิลปะที่เพื่อนส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แล้วเราทำงานปั้น มีลักษณะเป็นงานที่ต้องใช้แรง เราก็จะอยู่กับกลุ่มผู้ชายที่คิดว่าสนิทกับเรามากจนสามารถพูดเรื่องเพศได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ 

สคส: แต่เราตะขิดตะขวงใจ?

    ตอนที่นั่งคุยก็สนุกดีนะคะ แต่พอมานั่งสเก็ตช์งาน มันจะมีความขัดแย้งกับตัวตนของเราที่เป็นเพศหญิง เช่น ที่เพื่อนพูดว่า เฮ้ย เรามีขาที่ 3 นะเว้ย ตามสไตล์ที่พวกผู้ชายชอบพูดกัน เราก็ เหวอ.. ขาที่ 3 ใช่มั้ย เดี๋ยวจัดให้ ตอนหล่อชิ้นงานเพื่อนมาช่วยกันใหญ่ พอเสร็จไปแสดงงานจริง ปรากฏว่าเพื่อนไม่คุยด้วย (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งคงคิดว่าเราโกรธหรือเปล่าถึงทำงานออกมาแบบนี้ หรือบางคนก็ตัดสินเราไปเลยว่า เราไม่ใช่ผู้หญิงแน่ๆ เลย ต้องเป็นทอม หรือเป็นพวกประหลาดๆ 

สคส: จริงๆ แล้วงานผู้หญิง 3 ขา ต้องการสื่ออะไร

    ไอเดียแรกแค่คิดว่า เราอยากทำให้เป็นคาแร็กเตอร์แบบผู้หญิงที่วิ่งเร็วที่สุด ฉะนั้น ต้องสร้างขาเพิ่ม ถ้าขาออกข้างหลังก็จะคล้ายกับหาง ไม่ เราต้องการแสดงเรื่องเพศ เลยให้ออกมาข้างหน้า ทำเสร็จออกมาแล้วรู้สึกว่า เออ.. เราสามารถพูดเรื่องนี้ได้โดยไม่ได้ไปด่าใคร เหมือนเราใช้สื่อเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ผู้หญิงโดนริดรอน 

สคส: เห็นว่าเคยไปจัดแสดงในที่สาธารณะด้วย?

    ห้างสรรพสินค้า ตลาด สร้างความแตกตื่น จนยามต้องมาดู (หัวเราะ) ตอนที่แสดงมีคนมามุงดู บางคนเดินผ่าน มีฝรั่งสบถเป็นคำนั้นขึ้นมาเลย ถือว่าสร้างปฏิกริยาให้กับคนดูได้หลายแบบตามแต่ละคนจะคิด จะตีความ เป็นงานที่เปิดให้คนคิด

สโนว์ไวท์

สคส: งานชิ้นต่อมาคลี่คลายไปอย่างไร

    เริ่มดูว่าในครอบครัวของเราที่มีแต่ผู้หญิง ผู้หญิงในบ้านเรามีความแตกต่าง หรือมีบทบาท มีความประหลาดบ้างไหม นอกจากเราประหลาดคนเดียว เป็นการตั้งคำถามกับตัวเอง กับสถานการณ์ ความเป็นผู้หญิงที่อยู่ในสังคม

สคส: เจอความประหลาดในครอบครัวอย่างไรบ้าง

    เริ่มจากแม่ก่อนเลย ถึงแม้เราจะใช้ชีวิตด้วยกันจนรู้ว่าแม่คิดอะไร  แต่ถ้าสังเกตดีๆ แม่เหมือนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ คือทำงานหนักได้ทุกอย่าง สามารถทำงานที่ผู้ชายทำได้ เช่น ปีนป่าย ซ่อมหลอดไฟ เป็นคนสวน ซึ่งปกติผู้หญิงจะไม่ทำกัน ตอนนั้นมาทำเป็นงานเซรามิก เป็นคาแร็กเตอร์ของแม่ เป็นผู้หญิงมี 4 ขา ซึ่งทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น แต่อยู่ในห้องนอนที่เต็มไปด้วยดอกกุหลาบ แต่ละห้องจัดเป็นบ้าน 3 หลัง แต่ละหลังมีห้องต่างๆ บรรจุตัวละครที่เราเอามาเป็นกรณีศึกษา เวลาคนมาชมก็จะมองผ่านได้ตรงรูที่เราเจาะไว้

สคส: งานพัฒนาจากเรื่องความเป็นผู้หญิงของตัวเอง ของครอบครัว และชิ้นล่าสุดคือผู้หญิงอีสาน

    ใช่ค่ะ พอเรียนปริญญาโท เราคิดว่าผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้านของเรามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ความคิด ทัศนคติ หรือบทบาท ยังเหมือนตอนก่อนที่เราจะเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ไหม เลยทำวิจัยผู้หญิงจากหมู่บ้านที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเข้ามาทำงานในเมือง อาชีพที่นิยมกันก็จะมี “สาวโรงงาน” “สาวขายล็อตเตอรี” ที่จะไปขายตามหัวเมืองต่างๆ เดือนละสองครั้ง คือวันที่ 1 กับวันที่ 16 ที่หวยออก โดยจะมาก่อน 1-2 อาทิตย์ เพื่อจะขายล็อตเตอรีให้หมด อีกอาชีพที่เราสนใจ คือ “สาวหมอลำ” ที่จะเดินทางไปแสดงในพื้นที่ทั้งในและนอกเขตภาคอีสาน 

สคส: ต้องเก็บข้อมูลวิจัยอย่างไร

    เราก็คิดว่าจะไปหาข้อมูลด้วยวิธีไหนที่ทั้งคนให้ข้อมูลและเราเองรู้สึกสบายใจ เลยอาศัยการติดต่อกับเพื่อนสมัยมัธยม อย่างเพื่อนที่ทำงานโรงงาน เรียน ม.5 แล้วก็ออกมาทำงานเลยเพราะครอบครัวมีปัญหาการเงิน ต้องมาเป็นสาวโรงงานที่ระยอง เราติดตามอาชีพละคน ใช้เวลาทั้งหมดประมาณเดือนกว่าๆ 

สคส: ได้ข้อมูลน่าสนใจอย่างไรบ้าง

    สาวโรงงาน เราเข้าไปจะเห็นแฟลต เขาทำงานย่านนิคมอุตสาหกรรม สร้างบ้านพักให้คนงานรวมกันอยู่ใกล้ที่ทำงาน จะได้รับส่งสะดวก เพื่อนทำงานโรงงานถุงมือ ทำงานเป็นกะ มีเวลาพัก 10 นาที ต้องทำทุกอย่างใน 10 นาที แล้วรีบกลับมาทำงานต่อ เป็นงานสายพาน เพื่อนทำหลายปี ได้อยู่ฝ่ายตรวจสอบความเรียบร้อย ส่วนคนงานคนอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ต่างๆ กันไป 

    คนงานชอบทำโอที เลิกงานค่ำๆ เราก็ไปนั่งกินส้มตำกัน สัมภาษณ์ไปด้วย นั่งสักพักมีผู้ชายสองคนวิ่งเข้ามาในซอย คนหนึ่งถือปืนจะยิงคนที่อยู่ข้างหน้า เราพยายามรวบรวมสติ เก็บของเร็วที่สุด แล้วรีบวิ่งหาที่หลบ ทำให้รู้เลยว่าที่เพื่อนบอก เฮ้ย.. ชีวิตเราโอเค คือมันไม่ใช่ การมองชีวิตเสี่ยงแบบนี้เป็นเรื่องปกติเพราะเขาชิน เพื่อนบอกว่า มันต้องมีอยู่แล้วเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เป็นปกติ แต่เราว่า มันไม่ปกติ (หัวเราะ) 

ล็อตเตอรี เรื่องเล่าของสาวเลย

สคส: สาวขายล็อตเตอรี ชีวิตเป็นอย่างไร

    คนขายล็อตเตอรีจะเดินทางด้วยรถประจำทางกรุงเทพฯ-เมืองเลย หรือรถกระบะ เหมากันไปเป็นกลุ่มคนหมู่บ้านไปขายด้วยกัน ก็นั่งอัดๆ กันไป คิดว่าเดินทางแค่คืนเดียว เราไปกับเขา รู้สึกว่ามันอึดอัดค่ะ 

สคส: เขามองกันว่าเป็นปกติอีกเช่นกัน

    ใช่ค่ะ เราเดินทางไปด้วยรู้สึกว่าลำบาก แต่เขาเดินทางแบบนี้ก็เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย พอไปถึง ที่พักไม่ต่างจากสาวโรงงาน เช่ารวมกัน 7-8 คน ดีตรงที่อยู่แค่ช่วงสั้นๆ ชีวิตก็เลย.. ยังไงก็ได้ อยู่ชั่วคราว พอให้มีที่ซุกหัวนอน คนขายล็อตเตอรีส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะมองว่ามีวาทศิลป์ เชียร์ลูกค้าให้ซื้อ อุ๊ย มีเลขเด็ดนะ แต่พอเป็นผู้หญิงจะมีความลำบาก คือต้องเลือกพื้นที่ดีๆ ไม่เปลี่ยว หรือเสี่ยงเกินไป เขาตื่นกันตีห้า เดินขายจนหมด ทุกคนกลั้นใจขายให้หมด เพราะถ้าเหลือก็ขาดทุน บางทีมืดๆ เข้าไปในซอยเปลี่ยว มีคนเรียกซื้อ แต่กลายเป็นลวนลาม คนขายก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย 

สคส: อย่างนั้น หมอลำซิ่งน่าจะหนักสุด

    ใช่ค่ะ เพราะหมอลำซิ่งคือใช้ร่างกายของตัวเองเลย เขาต้องระวังเรื่องการทะเลาะวิวาทหน้าเวที หรือว่าการจับมือ ลวนลาม หรือว่าบางคนลวนลามถึงขา ก็ต้องมีวิธีป้องกันตัวเอง แต่ต้องไม่ใช่การทำร้ายผู้ชม แต่เป็นการใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ชายไม่กล้าทำ หรือหาวิธีหลีกเลี่ยง แต่ละคนจะเจอหนักเบาต่างกันไป

สาวหมอลำซึ่ง

สคส: ข้อมูลเหล่านี้รวบรวมมาสร้างเป็นผลงาน

    ทำเป็นแอนิเมชั่น พูดถึงเรื่องราวของผู้หญิง ประเด็นร่วมพูดถึงความลำบากของผู้หญิงอีสาน คนมักจะมองว่า ผู้หญิงอีสานไม่เอาไหน ขี้เกียจ เราเป็นผู้หญิงอีสาน รู้สึกว่า เฮ้ย.. อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราเลยอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าแต่ละพยายามต่อสู้ พยายามที่จะเอาชีวิตตัวเองให้รอดจากการทำงานทุกอย่าง ผู้หญิงอีสานไม่ได้ขี้เกียจ แต่มีความอดทน มีความขยันมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ

คนมักจะมองว่า ผู้หญิงอีสานไม่เอาไหน ขี้เกียจ เราเป็นผู้หญิงอีสาน รู้สึกว่า เฮ้ย.. อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราเลยอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าแต่ละพยายามต่อสู้ พยายามที่จะเอาชีวิตตัวเองให้รอดจากการทำงานทุกอย่าง ผู้หญิงอีสานไม่ได้ขี้เกียจ แต่มีความอดทน มีความขยันมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ

สคส: พอจะเล่าตัวอย่างการนำเสนอสักหนึ่งเรื่อง

    เรื่องของ “ฉันทนา” เป็นชื่อของสาวโรงงาน เป็นตัวละครผู้หญิงที่มีงวงเป็นช้าง เราสร้างคาแร็กเตอร์ให้สะท้อนความเป็นพื้นบ้านของเรา รวมทั้งนิทานนางผมหอม ที่มีพ่อเป็นช้าง แล้วก็ไปทำงานเย็บผ้าในโรงงาน ใช้เส้นผมของตัวเองเป็นเส้นด้าย เย็บให้เป็นถุงมือ ทำไปไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ประเด็นไคลแม็กซ์ของงานชิ้นนี้คือผมที่เอามาใช้เย็บมันค่อยๆ คลี่ออกจากร่างกายจนหมดตัว นัยยะที่ต้องการสื่อจริงๆ คือ เรื่องความเสียสละของผู้หญิง ถึงงานจะหนัก แต่จะไม่มีการบ่น ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ของผู้หญิงอีสาน

สคส: แต่ความขยันทุ่มเทไม่ได้นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

    เขาต้องเป็นเหมือนกลไกกระตุ้นให้เศรษฐกิจไปต่อได้ แต่เราไม่รู้หรอกว่า โรงงานมีการดูแลคนงานหรือเปล่า เรามองเห็นด้วยมุมมองของคนที่ได้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตของเขา แล้วรู้สึกว่าเขาควรได้รับการดูแล หรือคุ้มครองที่มากกว่านี้ สาวโรงงาน หลังจากปลดเกษียณแล้วจะยังไงต่อ

สคส: เราเลยได้ยินแต่ “สาวโรงงาน” ตลอดเวลา เพราะไม่มีคนแก่ทำงานในโรงงาน

    มีแรงงานใหม่มาทดแทนตลอด ตอนนี้แรงงานต่างด้าวเป็นที่สนใจ เพราะค่าจ้างถูกกว่า 

แอนิเมชั่น "ฉันทนา"

สคส: ทำงานเรื่องผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง มุมมองของเราเองต่อเรื่องนี้คลี่คลายไปอย่างไร

    ถ้ามองในเชิงปัญหา คิดว่าผู้หญิงมีปัญหาทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงอีสาน แม้แต่ผู้หญิงที่เป็นแรงงานต่างด้าวก็มีชีวิตที่ยากลำบาก สิ่งที่สนใจต่อไปเป็นเรื่องผู้หญิงชาติพันธุ์ เรื่องของความแตกต่าง ไม่ใช่แค่เพราะ “ฉันเป็นผู้หญิง” แต่อยากพูดถึงความหลากหลายของเพศสภาพที่อยู่ในสังคมด้วย รวมทั้งเรื่องของความรุนแรงทางเพศ ซึ่งมันผ่านมาทางสื่อต่างๆ ด้วย 

สคส: ปัญหาของศิลปินหญิงเป็นอย่างไร

    (หัวเราะ) ใกล้ตัวมาก งาน Performance ลำบากในแง่การตลาด ต้องใช้วิธีการขายผ่านสื่อ ภาพถ่าย หรือวิดีโอ ต้องแปรรูปเพื่อทำให้คนสะสมงานได้ อีกประเด็นคือศิลปินหญิงที่ทำงาน Performance มักเป็นกลุ่มที่มีประเด็นเรียกร้องอะไรบางอย่างในการนำเสนอ ตัวเองมองว่าสื่อ Performance ใกล้คนดูมากกว่ารูปแบบอื่น คนดูสัมผัสได้มากกว่าในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้คนฉุกคิดได้ดีกว่า มันเปิดช่องทางให้คนตั้งคำถาม เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการแสดงออกผ่านทางร่างกาย ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องที่พอคนดูปั๊บเข้าใจทันที

สคส: Performance art ดูแล้วไม่เข้าใจ?

    ต้องนั่งอธิบายกันหน่อย ต้องมีการพูดคุยว่าทำไมทำแบบนี้ ทำไมเล่นในช่วงเวลานี้ ทำไมเล่นในระยะเวลาที่ยาวขนาดนี้ ศิลปินเองต้องวางแผน ถ้าใช้พื้นที่นี้ เราจะเล่นอะไร แล้วมันจะสื่อไปถึงคนได้มั้ย

สคส: จากที่ออกไปแสดงงาน ประเมินความสนใจและเข้าใจประเด็นผู้หญิงของสังคมไทยว่าอย่างไร

    สังคมเข้าใจว่าเราพยายามจะพูดถึงอะไร อย่างเรื่องของ “จูปิเตอร์” มีความชัดเจนว่าประหลาด เพราะมี 3 ขา พูดถึงเรื่องเพศอย่างชัดเจน แต่วิธีที่เราสร้างความสัมพันธ์กับคนดู จะเป็นเชิงบวกหรือลบ เราอยากให้เป็นบวก เพราะถ้าลบปุ๊บ ด้วยความที่ตัวผลงานมันแรงอยู่แล้ว จะทำให้คนตัดความคิดที่เราต้องการนำเสนอทิ้งไป เราเลยใช้วิธีเกลี้ยกล่อมให้คนสนุก มีความสุข ณ ตรงนั้นมากกว่า ผู้ชายบางคนดูแล้ว เออ.. ชอบๆ เพราะมันไม่ทำให้เขารู้สึกกดดัน ซึ่งเราก็ไม่อยากให้งานไปสร้างความกดดันให้ใคร และอยากให้คนวางอคติลง และพยายามเข้าใจสิ่งที่มันเป็นปัญหาจริงๆ มากกว่า 

คลิ๊กชมผลงานของ "แววดาว" ได้ที่

https://drive.google.com/drive/folders/0B2WvwAKSBLXoaWRybHVQVjRiamc