บทความ / ข่าว
เรื่อง: รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ศุกร์กับเซ็กส์" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพ: www.freepik.com
ด้วยความพยายามที่จะทำความเข้าใจเพศ “อื่นๆ” ที่นอกเหนือไปจากหญิงและชาย เราจึงมีคำว่า LGBT (Lesbian, gay, bisexual, and transgender) ที่ถูกบัญญัติและเรียกใช้กันมานานนับสิบปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป อักษรย่อแค่ 4 ตัวดูเหมือนจะไม่พอ ล่าสุด เลยเพิ่มเติมเป็น LGBTTQQIAAP (lesbian, gay, bisexual, transgender, transsexual, queer, questioning, intersex, asexual, ally, pansexual)
ในพื้นที่อันจำกัด เลยจะขอเลือกเฉพาะบางเพศที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักในบ้านเรา นั่นก็คือ Asexual สำหรับต่างประเทศ เพศนี้ถูกพูดถึงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์นิตยสาร TIME ได้นำเสนอบทความที่เขียนถึงหนังสือชื่อ The Invisible Orientation: An Introduction to Asexuality เขียนโดย Julie Sondra Decker
คุณจูเลียประกาศตัวว่าเป็น Asexual ซึ่งเธออธิบายว่าหมายถึงคนที่ไม่มีความสนใจหรือฝักใฝ่ในเรื่องเพศ คนส่วนใหญ่มองคนประเภทนี้ว่า คงจะยังไม่เจอคนถูกใจ หรือคิดไปถึงขั้นว่าอาจจะเป็นพวก “แอบ”
เธอเขียนเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวตอนเป็นวัยรุ่น ว่ามีแฟนตอนอายุ 14 แต่ไม่เคยคิดจะมีเซ็กส์ ไม่ใช่เพราะอยากจะรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่อง กลัวการมีเพศสัมพันธ์ กลัวท้อง หรือกลัวติดโรค แต่คือเธอไม่สนใจเรื่องนี้ และเมื่อทบทวนดูแล้ว เธอคิดว่า ที่เธอมีแฟนในตอนนั้นน่าจะเป็นแค่การตามกระแสเสียมากกว่า ตัวเธอเองไม่ได้รู้สึกว่าการคบแฟนหรือมีเซ็กส์จะสลักสำคัญอะไร ซึ่งในที่สุด ทั้งสองก็เลิกลากันด้วยเหตุที่แฟนหนุ่มคิดว่า เซ็กส์สำคัญ ขณะที่เธอเองแม้จะคิดว่า “ไม่ลองไม่รู้” แต่ลองดูแล้วก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นเร้าใจแต่อย่างใด
จนถึงวันนี้ จูเลียชัดเจนว่าตัวเองไม่สนใจเรื่องเพศ เธอบอกว่าไม่เคยมีใคร เพศไหน ทำให้เธอรู้สึกอยากคบหาหรือมีเซ็กส์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิด หนุ่มหล่อสาวหลงในที่ทำงาน ดารา เซเลบ ฯลฯ ไม่เคยมีใครที่ดึงดูดเธอได้แม้แต่คนเดียว
จูเลียยืนยันว่า การเป็นคนไม่สนใจเรื่องเพศไม่ใช่ความผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอรักษา และอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละช่วงเวลา เช่น เคยเป็น Asexual อยู่ดีๆ วันหนึ่งก็เลิกเป็นเสียอย่างนั้น หรือบางคนเมื่อก่อนเป็นคนรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกัน แต่พออยู่มาก็กลายเป็น Asexual ไปเฉยๆ ก็มี
หนังสือ The Invisible Orientation: An Introduction to Asexuality เล่มนี้ จูเลียเขียนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับ Asexual คนอื่นๆ จะได้ไม่หวั่นไหวไขว้เขวกับเสียงซุบซิบวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง และเธอยืนยันด้วยว่า ใครจะเป็น Asexual หรือไม่นั้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสาขาไหน แต่คนที่ตอบได้ดีที่สุดก็คือตัวคนๆ นั้นเอง
Asexual ดูเหมือนจะเป็นอีกเพศที่แตกต่างจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคย อีกทั้ง LGBT ที่ถูกพัฒนาเป็น LGBTTQQIAAP ก็มีแนวโน้มที่จะขยายยืดยาวขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนของเพศใหม่ๆ ซึ่งทยอยปรากฏให้เป็นที่รับรู้
หรือจริงๆ แล้ว เราอาจจะต้องรับรู้เรื่องเพศเสียใหม่ ว่ามีมากมายหลายแบบจนเกินกว่าจะนับหรือจำแนกแยกประเภทได้ แต่เพื่อป้องกันความหงุดหงิดสับสนว่า “โลกนี้อยู่ยาก” วิธีคิดง่ายที่สุด คือมองข้ามไปเลยว่าคนนั้นคนนี้จะเป็นเพศไหน แต่สนใจแค่ว่า ทุกคนก็เป็นคนเหมือนๆ กัน เพื่อที่เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ