บทความ / ข่าว
เรื่อง: พงศธร สโรจธนาวุฒิ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
ภาพ: Freepik.com
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2560
การคุมกำเนิดมีหลายวิธี หลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงการคุมกำเนิดเพียงชั่วคราว อย่างมากก็คุมได้หลายเดือน หรือหลายปีอย่างยาคุมแบบฝัง หรือห่วงคุมกำเนิด วิธีเดียวที่เป็นการคุมกำเนิดถาวรมีเพียงการทำหมันเท่านั้น
การทำหมันในผู้ชายและผู้หญิงก็ต่างกัน ผู้ชายมีวิธีทำหมัน 2 แบบ คือการตอน โดยนำลูกอัณฑะออกทั้งหมด ทำให้ไม่มีลูกอัณฑะที่จะผลิตอสุจิ แต่วิธีนี้มีผลกระทบสูง เพราะทำให้ร่างกายผู้ชายขาดฮอร์โมนเพศชาย ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว การทำหมันในขันทีสมัยจีนโบราณใช้วิธีแบบนี้
อีกวิธีคือการผูกท่อนำอสุจิ หมอจะผูกและตัดท่อทางเดินอสุจิทั้ง 2 ข้าง โดยกรีดผิวหนังภายนอกเพียงเล็กน้อย วิธีนี้จะไม่ทำให้ผู้ชายเป็นหมันทันที จะต้องรออย่างน้อย 3 เดือน หรือจนกว่าร่างกายจะหลั่งน้ำอสุจิประมาณ 20 ครั้ง หลังจากนั้นต้องทำการตรวจดูว่าในน้ำอสุจิยังมีตัวอสุจิอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มี แสดงว่าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ
ส่วนหมันหญิง ก็มีทั้งวิธีการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกจากร่างกาย วิธีนี้นิยมใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือมีเนื้องอกในมดลูก ขณะที่อีกวิธีคือการผ่าตัดท่อนำไข่ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ไข่ที่ผลิตในรังไข่สามารถออกมาเจอกับอสุจิที่ท่อนำไข่ได้ วิธีการผ่าตัดแบบนี้ถือเป็นการผ่าตัดเล็ก มีรอยแผลเป็นเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง
การตัดอัณฑะออก และการตัดรังไข่และมดลูกออกจากร่างกาย ถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ตลอดชีวิต และไม่สามารถผ่าตัดเพื่อย้อนคืนได้
กรณี “หมันหลุด” ที่หลายคนเรียกกัน หมายถึงทำหมันไปแล้วแต่เกิดท้องขึ้นมา เกิดในกรณีหมันประเภทตัดท่อนำไข่ หรือท่อนำอสุจิ โดยสถิติ หมันหญิงมีโอกาสท้องได้ราวๆ 5 ใน 1,000 คน ส่วนหมันชายมีโอกาสพลาดได้ราว 1 ใน 1,000 คน ขึ้นอยู่กับฝีมือหมอ สภาพร่างกายของแต่ละคน รายที่ทำกับหมอฝีมือดีแล้วแต่ยังหลุด ก็อาจเป็นไปได้ว่าร่างกายซ่อมแซมดี เลยมีการเชื่อมท่อนำไข่กับท่อนำอสุจิที่ตัดไปแล้ว
ถ้าเกิดหลุดขึ้นมาก็ตั้งท้อง แต่จะทำอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับทางเลือกของคู่ว่าจะทำอย่างไรต่อ อย่างไรก็ดี ถ้าหมันไม่หลุด แต่เกิดอยากมีลูกขึ้นมาก็สามารถกลับไปไหมหมอแก้ ผ่าตัดเชื่อมท่อนำไข่ ท่อนำอสุจิใหม่เพื่อมีลูกได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะซ่อมหมันได้ เพราะการซ่อมหมันมีโอกาสล้มเหลว เช่นเดียวกับการทำหมัน
ดังนั้น ควรคิดให้ดีก่อนการตัดสินใจ แม้จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดท้อง และการทำหมันทุกชนิดไม่ป้องกันโรคติดต่อทางเพสสัมพันธ์ ดังนั้นควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยขณะมีเพศสัมพันธ์
ในประเทศไทย การทำหมันได้รับการคุ้มครองตามสิทธิประกันสังคมและสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยผู้ชิสิทธิสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย