บทความ / ข่าว

ยาเลื่อนประจำเดือน ใช้ยังไง?
30/04/2017 06:45

จารุทรรศน์ สิทธิสมบูรณ์ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2560

ภาพ: freepik.com

ผู้หญิงหลายคนคงเคยเผชิญปัญหา “หมดสนุก” เมื่อถึงวันหยุดที่อุตส่าห์วางแผนท่องเที่ยวไว้ดิบดี แต่กลายเป็นช่วงวันที่จะมีประจำเดือนเสียอย่างนั้น "ยาเลื่อนประจำ เดือน" จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี

ยาเลื่อนประจำเดือนที่ขายตามร้านขายยาโดยเภสัชกร และนิยมใช้กันทั่วไป มีชื่อว่า พรีโมลุท เอ็น (Primolut N) ที่มีตัวยาสำคัญ คือ นอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) ขนาด 5 มิลลิกรัม โดยตัวยานี้จัดเป็นยาในกลุ่มโปรเจสเตอโรน 

ยาเลื่อนประจำเดือนได้อย่างไร?  

การออกฤทธิ์ของยาตัวนี้ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด 

ปกติ รอบเดือนอยู่ที่ประมาณ 28 วัน วงจรรอบเดือน เริ่มจากวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมน "เอสโตรเจน" และ “โปรเจสเตอโรน” เพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น หากไข่ผสมกับอสุจิก็จะมาฝังตัวที่นี่แล้วเติบโตเป็นตัวอ่อนต่อไป แต่หากไข่ไม่ถูกผสม ฮอร์โมนต่างๆ จะลดระดับลง เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้นก่อนหน้านี้ก็จะหลุดลอกกลายเป็นประจำเดือน

ในช่วงก่อนมีประจำเดือน ถ้าคุณผู้หญิงกินยาเลื่อนประจำเดือนเข้าไป ก็จะไปเพิ่มระดับของฮอร์โมนต่างๆ เท่ากับเป็นการรักษาระดับฮอร์โมนไว้ไม่ให้ลดลง เยื่อบุโพรงมดลูกจึงยังไม่หลุดลอกสลายตัว เท่ากับประจำเดือนถูกเลื่อนออกไปนั่นเอง

วิธีกินยาให้ได้ผลและปลอดภัย

เมื่อรู้แนวทางการทำงานของยาแล้ว หมายความว่า คุณผู้หญิงต้องมีข้อมูลรอบประจำเดือนของตัวเอง เพื่อจะประเมินได้ว่าควรเริ่มกินเมื่อไร 

  • เริ่มกินยาไม่เกิน 7 วัน ก่อนวันที่คาดว่าประจำเดือนจะมา
  • กินครั้งละ 1 เม็ด โดยจำนวนเม็ดยา ขึ้นกับน้ำหนักตัวของแต่ละคน

        น้ำหนักตัวต่ำกว่า 60 กิโลกรัม กินวันละ 2 ครั้งๆ ละ 1 เม็ด
        น้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม กินวันละ 3 ครั้งๆ ละ 1 เม็ด

  • กินต่อเนื่องทุกวัน โดยประจำเดือนจะมา หลังหยุดยาราว 2-5 วัน

ยาในกลุ่มนี้มีอีกหลายแบรนด์ อาทิ Provera, Duphaston คุณสมบัติและวิธีการกินคล้าย Primolut-N แต่มีปริมาณฮอร์โมนน้อยกว่า ทำให้ต้องกินบ่อย ๆ ข้อดีคือผลข้างเคียงน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ไม่ควรกินยาเกิน 10 วัน เพราะจะทำให้รอบเดือนมาผิดปกติ เลือดออกกระปิด กระปรอย ปวดศีรษะ และเจ็บคัดเต้านมได้ 

ยาเลื่อนประจำเดือน ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคน กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ 1.ผู้ที่ตั้งครรภ์ 2.ผู้ที่กำลังให้นมลูกด้วยน้ำนมตัวเอง  3.เป็นหรือเคยเป็นมะเร็งเต้านม  4.ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตัน 5.ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคตับขั้นรุนแรง

ยาเลื่อนประจำเดือนมีความปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ที่สำคัญควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรจะดีที่สุด นอกจากนี้ เราสามารถเลื่อนประจำเดือนได้ด้วยยาคุมกำเนิดอีกด้วย