บทความ / ข่าว

ก่อนมีเมนส์ ..อาการไหนไม่ปกติ?
03/02/2016 09:19

รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559

ปวดหัว หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน เจ็บเต้านมคัด เมื่อยตัว น้ำหนักขึ้น ตัวบวม ฯลฯ ว่ากันว่า อาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิงเรานับดูแล้วแตกต่างกันออกไปได้ถึงเกือบ 200 อาการเลยทีเดียว 

จึงเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะไปเปรียบเทียบอาการของฉันของเธอว่าเหมือนกันหรือไม่ แบบไหนปกติหรือไม่ปกติ เพราะความปกติของอาการก่อนมีประจำเดือน หรือที่เรียกกันว่า PMS ที่ย่อมาจาก premenstrual disorder ก็คือผู้หญิงแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป บางคนออกอาการก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน บางคนล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ บางคนมีอาการแต่ละทีถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ต้องหยุดงาน ยกเลิกนัด หดหู่เศร้าหมองถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายได้ทุกเดือน บางคนมีอาการแค่พอให้ได้รำคาญ และบางคนโชคดีไม่มีอาการใดๆ เลยก็เป็นได้

ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้หญิงราว 85 เปอร์เซ็นต์ต่างเผชิญกับอาการก่อนมีประจำเดือนในลักษณะอาการและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป เหมือนกันก็ตรงที่อาการต่างๆ จะหายไปทันทีที่ประจำเดือนมา

อาการเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างส่ายหน้าเพราะไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด บอกได้คร่าวๆ แค่ว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย รวมทั้งสารเคมีในสมองช่วงก่อนมีประจำเดือน และปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้หญิงแต่ละคนออกอาการมากน้อยแตกต่างกัน เป็นได้จากทั้งพันธุกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิต แน่นอนว่าสาเหตุจากพันธุกรรมเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่พอจะควบคุมได้ก็คือการใช้ชีวิตของเราแต่ละคน

มีผลการศึกษาที่พบความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดกับอาการก่อนมีประจำเดือน โดยคนที่มีภาวะเครียดมักจะมีอาการก่อนมีประจำเดือนค่อนข้างรุนแรง และส่วนหนึ่งที่ทำให้เครียดมากก็เพราะคนเหล่านั้นไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับความเครียดของตัวเอง มีคนจำนวนมากที่มาพบหมอเนื่องจากอาการก่อนมีประจำเดือนหนักหนาสาหัส สิ่งที่คุณหมอแนะนำไม่ใช่การรักษามดลูก แต่กลับเป็นการหาทางผ่อนคลายความตึงเครียด ไม่ว่าจะโดยการออกกำลังกาย การทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น นวด สปา โยคะ เป็นต้น

ในสหรัฐฯ ผู้หญิง 3-8 เปอร์เซ็นต์มีอาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรงมาก ที่เรียกว่า PMDD หรือ premenstrual dysphoric disorder คนที่มีอาการนี้ ทุกเดือนก่อนมีประจำเดือนจะมีภาวะทางอารมณ์ย่ำแย่ แปรปรวน วิตกกังวล หดหู่ จนถึงกับร้องไห้ คนที่มีอาการแบบนี้มักจะเป็นคนที่เป็นโรคไบโพล่าร์ (Bipolar disorder) และโรคซึมเศร้า อยู่ก่อนแล้ว พอใกล้มีประจำเดือน อาการซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวนจะยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นอีก ซึ่งถ้าเป็นมากๆ แบบนี้ คุณหมออาจรักษาด้วยยาหรือฮอร์โมน

สำหรับบางคน อาหารมีผลต่ออาการก่อนมีประจำเดือนด้วยเช่นกัน อาหารกลุ่มที่ไม่ค่อยส่งผลดีต่ออาการก่อนประจำเดือน อาทิ กาแฟ เกลือ น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และอาหารแปรรูปต่างๆ ส่วนอาหารที่อาจช่วยบรรเทาอาการอย่างเช่น วิตามินรวม น้ำมันพริมโรส น้ำมันปลา เป็นต้น

อาการก่อนมีประจำเดือนไม่ใช่ความเจ็บป่วย แต่เป็นภาวะที่สัมพันธ์กับการทำงานโดยรวมของร่างกาย ความสำคัญจึงอยู่ที่การใส่ใจและสังเกตตัวเองว่า อะไรบ้างที่มีผลให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือแม้แต่ความเครียด