บทความ / ข่าว

อันตราย ไข้ทับระดู!?
03/09/2016 09:14

รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2559

คำว่า “ไข้ทับระดู” แค่ฟังดูก็รู้ว่าเป็นคำโบราณ อาการทั่วไปเมื่อพูดถึงคำๆ นี้ ก็คือ อ่อนเพลีย เป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว พออาการไข้มาเป็นเอาตอนมีประจำเดือนก็ทำให้หลากหลายอาการปนเปผสมโรงกันเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

สมัยก่อนเวลาพูดถึงคำๆ นี้ ผู้หญิงจะกลัวกันมาก เพราะบางคนเป็นแล้วถึงตาย เนื่องจากสมัยก่อนการเดินทางไปหาหมอหายาไม่สะดวกง่ายดายอย่างทุกวันนี้ สุขอนามัยเรื่องความสะอาดซึ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงในช่วงวันนั้นของเดือนก็แตกต่างจากปัจจุบัน ทำให้พอเป็นอะไรทีอาการอาจลุกลามจนเกินจะแก้ไข

อันที่จริงแล้ว ไข้ทับระดูเป็นคำรวมๆ ซึ่งต้องแยกแยะให้ดีว่าแท้ที่จริงแล้ว ต้นเหตุของอาการเป็นโรคภัยที่มีความเสี่ยงจะลุกลามเป็นอันตราย หรือเป็นเพียงภาวะป่วยไข้ในช่วงที่ร่างกายไม่เต็มร้อย ซึ่งสามารถหายเองได้ถ้ามีการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี

ไข้ทับระดูแบบธรรมดาๆ ในช่วงที่มีประจำเดือน ภูมิต้านทานในร่างกายจะลดลง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ร่างกายเสียสมดุล และอาจติดเชื้อได้ง่าย ถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดา การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ลดกิจกรรมประจำวันลง กินอาหารมีประโยชน์ย่อยง่าย เช่น พืชผักผลไม้ต่างๆ งดการดื่มเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ละเว้นการสูบบุหรี่ และเปลี่ยนผ้าอนามัยไม่ต่ำกว่า 2 ชิ้นในหนึ่งวันเพื่อความสะอาดของสุขอนามัยส่วนตัว ก็จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เองในไม่กี่วัน

ไข้ทับระดูแบบมีโรคอื่นแทรกซ้อน ถ้าหลายวันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกาย เพราะเป็นไปได้ว่า อาการไข้อาจเป็นสัญญานของโรคไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไทฟอยด์ ฯลฯ

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ไข้ทับระดูที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบอนามัยเจริญพันธุ์ และอาจลุกลามเป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า คลามีเดีย อาการที่ส่อเค้าว่าอาจเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง จากการติดเชื้อ ได้แก่ อาการไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมีตกขาวปนหนอง ประจำเดือนมามากผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น ถ้าปล่อยทิ้งไว้ เชื้ออาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ทำให้เกิดอาการอักเสบตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นปีกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ผลก็คืออาจทำให้มีบุตรยาก เป็นหมัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

การติดเชื้อดังกล่าว อาจเกิดจากการรับเชื้อจากคู่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งปากมดลูกจะเปิด เลือดจึงเป็นอาหารชั้นดีหล่อเลี้ยงแบททีเรียให้เจริญเติบโต เมื่อเกิดการติดเชื้อจึงทำให้โรคค่อนข้างรุนแรง หรืออาจเกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่ไม่เหมาะสม

การป้องกันโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรังที่ดี ได้แก่การมีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย โดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง รักษาสุขอนามัยโดยเฉพาะในช่วงวันนั้นของเดือน และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เพราะน้ำยาอาจไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ดีในช่องคลอด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

ที่สำคัญ หมั่นสังเกตอาการขณะมีประจำเดือนทุกครั้งอย่างถี่ถ้วน เพราะถ้าเกิดอาการที่ผิดสังเกตก็จะได้รู้แต่เนิ่นๆ และไปตรวจเช็คและรับการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที