บทความ / ข่าว

‘ไข่หยก’ เสริมแกร่ง ‘อุ้งเชิงกราน’ 
27/01/2017 12:13

เรื่อง: รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560
    
ต่างประเทศกำลังนิยมการออกกำลังกาย โดยมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Jade egg ลักษณะเป็นหินผิวเรียบเป็นมันเงารูปกลมรีขนาดน้องๆ ลูกปิงปอง เจาะรูร้อยเชือกเส้นเล็กๆ แล้วใส่หินนี้เข้าในช่องคลอด เพื่อฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว นัยว่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 

บางคนก้าวหน้าถึงชั้นร้อยวัตถุที่มีน้ำหนัก ถ่วงไว้อีกด้าน ในท่ายืน แล้วเกร็งกล้ามเนื้อบีบรัดเจ้า Jade egg ไม่ให้หล่นจากช่องคลอด วิธีนี้ได้รับความนิยมแพร่หลาย หาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ทั่วไป แม้แต่ดาราดังอย่างกวินเน็ธ พัลโทรว์ ซึ่งทำเว็บไซต์ไลฟ์สไตล์ชื่อ Goop ก็เขียนแนะนำเรื่อง Jade egg จากประสบการณ์ของตัวเองไว้ด้วยเช่นกัน

ถึงจะฟังดูแปลกๆ หน่อย แต่ในมุมมองด้านสุขภาพ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถือว่ามีความสำคัญ ไม่เฉพาะเรื่องความสุขทางเพศ แต่ยังช่วยลดอาการปัสสาวะเล็ด และอุ้งเชิงกรานหย่อน

เรามารู้จักเจ้ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานกันก่อน ที่เรียกว่ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ก็คือกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่มีรูปร่างเป็นแผ่นบางๆ ขึงอยู่ใต้กระดูกเชิงกราน โดยด้านหน้ายึดติดกับกระดูกหัวหน่าว ด้านหลังยึดติดกับกระดูกสันหลังส่วนใต้กระเบนเหน็บหรือก้นกบ

กล้ามเนื้อนี้ทำหน้าที่พยุงอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในท่ายืน ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะ มดลูก ลำไส้ แล้วยังช่วยควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ลม และการเคลื่อนไหวของลำไส้ กล้ามเนื้อนี้จะหดรัดตัวเวลาที่เราไอ จาม หรือเบ่ง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดโดยไม่ตั้งใจ ส่วนเวลามีเพศสัมพันธ์ กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่มีความแข็งแรงก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แล้วถ้ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอล่ะ? จะเป็นอย่างไร?

• อาการปัสสาวะเล็ด ขณะออกแรง ไอ หรือจาม หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ 

• อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน เพราะกล้ามเนื้อนี้ช่วยพยุงอวัยวะภายใน พอกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง อวัยวะต่างๆ ก็จะเคลื่อนต่ำลงจากตำแหน่งปกติ ผู้หญิงร้อยละ 40 เผชิญปัญหานี้ในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นน้อยๆ ก็แทบไม่มีอาการปรากฏ แต่ถ้าเป็นมาก อาจถึงขั้นมีก้อนยื่นจากปากช่องคลอดตลอดเวลา ซึ่งก็คืออวัยวะต่างๆ ที่เคลื่อนลงต่ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกนั่นเอง

ทำไมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจึงอ่อนแอ? 

สาเหตุมีหลายประการ ทั้งการตั้งครรภ์ คลอดลูก อายุที่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงหมดประจำเดือน รวมทั้งกล้ามเนื้อเสียหายจากการออกแรงเบ่งมากๆ เป็นประจำเพราะท้องผูก รวมทั้งภาวะไอเรื้อรัง และโรคอ้วน

การแก้ไขปัญหาทำได้ทั้งการผ่าตัด ใช้ยา และการใส่อุปกรณ์พยุงในช่องคลอด แต่วิธีที่ได้ผลมากที่สุดคือการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว 

Jade egg ไม่ใช่วิธีเดียวในการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน แต่ยังมีการบริหารอีกมากมายหลายวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมที่ค่อนข้างผาดโผน และมีข้อควรระวังเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งคงจะได้นำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังในคราวต่อๆ ไป