บทความ / ข่าว

สำรวจโรคด้วยรอบเดือน
08/04/2016 00:00

เรื่อง: รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ศุกร์กับเซ็กส์ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2559

ประจำเดือน เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะบ่งชี้ถึงสุขภาวะทางเพศและระบบอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ผู้หญิงแต่ละคนมีแบบแผนของประจำเดือนที่แตกต่างกันไป หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความเสถียร” ของแต่ละรอบเดือน รอบเดือนจะให้ข้อมูลกับเราได้ ย่อมต้องอาศัยการสังเกตด้วยตัวเอง ว่าอะไรบ้างที่แตกต่างจากแบบแผนที่เคยเป็นมา 

สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่ ระยะเวลา ปริมาณ และอาการข้างเคียง

ระยะเวลา ได้แก่ รอบระยะเวลาและจำนวนวัน รอบระยะเวลานับจากการมีประจำเดือนวันแรกของเดือนนี้ ไปจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนในเดือนถัดไป จะอยู่ในช่วง 23-35 วัน เช่น บางคน 23-25 วันมีประจำเดือนครั้งหนึ่ง บางคนทุก 28-30 วัน เป็นต้น ส่วนจำนวนวันที่มีประจำเดือนจะอยู่ในช่วง 3-5 วัน 

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ระยะเวลาประจำเดือนคลาดเคลื่อนจากปกติ ที่สำคัญได้แก่ อายุ สุขภาพ และปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย 

อายุที่ส่งผลต่อรอบเดือน ได้แก่ วัยรุ่นที่มีประจำเดือนช่วงแรกๆ อาจมีระยะห่างของแต่ละรอบเดือนค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ 21-45 วัน หรือกลุ่มอายุ 40-50 ปี รอบเดือนอาจมาหนึ่งเดือนแล้วเว้นไปอีกหลายเดือน ถ้าหายครบ 12 เดือนถือว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป 

ภาวะสุขภาพที่อาจทำให้รอบเดือนคลาดเคลื่อน อาทิ ความเครียด การนอนดึก ช่วงให้นมบุตรหลังคลอด เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและรอบเดือน ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างหนัก การลดน้ำหนัก การกินยาคุมกำเนิดซึ่งมีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย

รอบเดือนที่ผิดปกติ ยังอาจมีเหตุจากโรคภัย อาทิ โรคไทรอยด์ การทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมองซึ่งเป็นบริเวณที่ผลิตฮอร์โมนในระบบเจริญพันธุ์ โรคอ้วน ซิสต์รังไข่ ดังนั้น ถ้าทบทวนดูแล้วไม่มีปัจจัยให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อน แต่ประจำเดือนกลับแปรปรวนต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ที่คิดว่าถึงวัยหมดประจำเดือน เพราะรอบเดือนหายไปเกิน 12 เดือน แต่อยู่ๆ กลับมาอีก ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการ

ปริมาณ เลือดประจำเดือนในแต่ละรอบเดือนมีปริมาณ 2-5 ช้อนโต๊ะ (ถึงเราจะรู้สึกว่ามันน่าจะมากกว่านั้นก็ตาม) โดยทั่วไป ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง แต่หากประจำเดือนมามากล้นถึงขั้นทนไม่ได้ ต้องเปลี่ยนกันทุกชั่วโมง อาจเกิดจากการกินยาบางชนิด หรือช่วงเปลี่ยนยาคุมระยะแรกๆ หรือหลังแท้งบุตร ซึ่งจะเป็นอยู่ไม่นาน แต่ถ้าอยู่มามากหลายเดือนติดต่อกัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการ เพราะอาจมีสาเหตุจากการมีเนื้องอกหรือมะเร็งในมดลูก หรือมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเกล็ดเลือด 

อาการข้างเคียง ช่วงที่มีรอบเดือนผู้หญิงจะรู้สึกไม่สบายตัว บางคนปวดหัว ปวดหลัง ท้องเสีย คลื่นไส้ หรือปวดเกร็งแถวท้องน้อย ซึ่งถ้าปวดแบบพอรำคาญ เป็นเมนส์ 1-2 วันก็หายได้เอง ถือว่าปกติ แต่ถ้าปวดปางตาย ต้องหยุดงานนอนซม อาจเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีเนื้องอก ควรไปพบแพทย์ ถ้าไม่มีอะไรมาก คุณหมออาจให้กินยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้าพบโรคดังที่ว่ามาก็อาจต้องผ่าตัด 

รอบเดือนจะทำนายสุขภาพได้ ต้องอาศัยการสังเกต และจดบันทึกข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน ถ้าต้องไปพบแพทย์ สิ่งที่บันทึกไว้จะเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับวินิจฉัยอาการ และปัจจุบัน ก็มีแอ็พพลิเคชั่นบันทึกรอบเดือนให้สามารถดาวน์โหลดได้ทั่วไป