บทความ / ข่าว

"โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" ใครว่าไม่อันตราย
23/04/2017 18:49

เรื่อง: รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ศุกร์กับเซ็กส์" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2560

ภาพ: freepik.com

STI (Sexually transmitted infections) หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มักจะถูกมองข้าม เวลามีเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่ “กลัวท้อง” มากกว่า “กลัวโรค” อาจเป็นเพราะ “ท้องไม่พร้อม” ปรากฏให้เห็นชัดเจน ขณะที่โรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ เป็นแล้วคนอื่นไม่รู้ อย่างน้อยก็ไม่อาย พอไม่มีใครบอกใคร เลยคิดไปว่าเป็นเรื่องไกลตัว คนเขาคงไม่เป็นกัน ซึ่งผิดถนัด

สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของบ้านเรา ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 15-24 ปี โดยในรอบ 10 ปี มีผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 1,557 รายในปี 2548 เพิ่มเป็น 3,314 รายในปี 2557 ส่วนโรคหนองใน มีผู้ป่วย 4,572 ราย เมื่อปี 2548 เพิ่มเป็น 6,814 รายในปี 2557 

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี เมื่อปีที่แล้ว มีทั้งสิ้น 426,999 ราย เสียชีวิต 16,122 ราย และมีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่สูงถึง 6,304 ราย ซึ่งแน่นอนว่าอยู่ในกลุ่มวัยเดียวกับกลุ่มติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีมากกว่า 30 โรค ยอดฮิตที่พบกันบ่อยๆ มี 8 โรค ครึ่งหนึ่งรักษาได้ ประกอบด้วย ซิฟิลิส โกโนเรีย หนองในคลามีเดีย และเชื้อทริโคโมนาซิส (Trichomoniasis เชื้อจะทำลายเยื่อบุช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดอักเสบ มีอาการคัน อักเสบบวมแดง ตกขาวมีสีเขียวข้นและกลิ่นรุนแรง)

ส่วนโรคที่ถ้ารับเชื้อแล้วพอจะควบคุมอาการไม่ให้กำเริบจนเจ็บป่วย แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปจากร่างกายได้ เป็นกลุ่มเชื้อไวรัส ได้แก่ เอชไอวี เอชพีวี ตับอักเสบบี และเริม/งูสวัด 

โรคเหล่านี้ สามารถส่งต่อเชื้อไปสู่อีกคนหนึ่งได้ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การรับเลือดซึ่งมีเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การส่งผ่านเชื้อให้ตัวอ่อนในครรภ์ผ่านสายรก หรือทารกรับเชื้อขณะคลอด

ประเด็นร่วมของเชื้อสารพัดเหล่านี้ คือ แต่ละเชื้อ แต่ละโรคสามารถก่อให้เกิดได้หลากอาการ หลายสเต็ปขั้นตอนของโรค ถ้าปล่อยไว้ไม่ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย บางโรคถึงขั้นเสียชีวิต บางเชื้อทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ทำให้แท้ง หรือเชื้อไปทำลายอวัยวะภายในของเราได้

ปัญหาใหญ่ก็คือ มีคนจำนวนมากที่รับเชื้อและมีเชื้อแฝงอยู่ในตัว โดยไม่ปรากฏอาการให้เห็น ทำให้ไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อ และพร้อมจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะรู้ได้อย่างไร ว่าคู่ของเรา ปลอดเชื้อ?    

ร้อยทั้งร้อย อาศัยความไว้วางใจคำบอกกล่าวของคู่ เพราะคู่ยืนยันว่าไม่เคยเป็นโรค ปลอดภัยแน่นอน ซึ่งคู่ของเราอาจบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้โกหก เพราะคู่ของเราก็ไว้ใจและเชื่อคู่คนก่อนหน้าของเขา ซึ่งพูดแบบเดียวกันนี้ ซึ่งคู่คนก่อนหน้าของคู่คนปัจจุบันของเรา ก็อาจได้รับคำบอกกล่าวแบบเดียวกัน จากคู่คนก่อนนู้นของเขาด้วยเช่นกัน  

สรุปว่า ถ้าอยากปลอดภัยให้ชัวร์ จงใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นอนามัยสำหรับการออรัลเซ็กส์ ทุกครั้ง ถ้าจะให้ดี ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ให้พากันไปตรวจสุขภาพว่าปลอดโรคจริง หรือหลังเปลี่ยนคู่นอนใหม่ หากพลั้งพลาดไม่ได้ใช้ถุงยางก็ควรไปตรวจว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อจะดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ

สำหรับผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ อย่าลืมว่า ถุงยางอนามัยเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่ป้องกันโรค ฉะนั้น ป้องกัน “ลูก” แล้ว อย่าลืมป้องกัน “โรค” ไปพร้อมกัน