บทความ / ข่าว

‘โรค’ ที่มีผลกับ ‘ลูก’
20/01/2017 06:42

เรื่อง: รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 20 มกราคม 2560
    
สำหรับผู้หญิง ระบบอนามัยเจริญพันธุ์ถือว่ามีความเปราะบางที่สุด เนื่องจากโดยธรรมชาติของรูปแบบโครงสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงนั้นเอื้อให้การรับเชื้อต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย ฉะนั้น คุณผู้หญิงจึงควรรู้จักระวังและป้องกันตัวเอง วิธีหนึ่งคือเริ่มจากรู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นความเสี่ยง

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ชะล่าใจ หรือสาเหตุใดๆ ก็ตาม ทำให้หลายคน ตอนช่วงเป็นวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย จนติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเจ้าเชื้อโรคเหล่านี้ หลายชนิดสามารถแฝงตัวในร่างกายนานเป็นสิบปี โดยไม่มีอาการปรากฏให้เห็น คนส่วนใหญ่จึงละเลยไม่ใส่ใจ ไม่รักษาหรือดูแลตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสม ในระยะยาว เชื้อโรคเหล่านี้อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์และทารกที่จะเกิดมา

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดไหนบ้างที่ส่งผลต่อการมีลูก?

 โรคติดเชื้อคลามีเดีย และโรคหนองในโกโนเรีย เมื่อติดเชื้อคลามีเดีย ผู้หญิงอาจตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกทั้งที่ไม่ใช่รอบเดือน ปวดประจำเดือนมาก ปวดท้องน้อย มีไข้ คันบริเวณช่องคลอด ผู้ชายอาจมีหนองไหลจากอวัยวะเพศ ปัสสาวะแสบขัด คันที่ปลายอวัยวะเพศ ปวดอัณฑะ ส่วนโกโนเรีย จะทำให้ปัสสาวะขัด ผู้หญิงอาจตกขาวมีสีเขียวเข้ม ผู้ชายอาจพบมีหนองสีขาวข้นไหลออกมาพร้อมปัสสาวะ 

ปัญหาของทั้งสองโรค คือส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรือบางคนเป็นแล้วหาซื้อยากินเอง หรือกินยาไม่ครบโดส อาการหายไป แต่เชื้อยังอยู่ ซ้ำยังดื้อยา ในระยะยาว โรคติดเชื้อคลามีเดียอาจทำให้เกิดโรคอักเสบในโพรงมดลูก และอาจเกิดฝีที่ท่อนำไข่ อาจทำให้เป็นหมัน ทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือคลอดก่อนกำหนด และทารกเกิดการติดเชื้อที่ตา และปอดอักเสบได้

ขณะที่หนองในโกโนเรียสามารถส่งเชื้อไปสู่ทารกในระหว่างคลอด และเด็กอาจติดเชื้อที่ตาจนตาบอด หรือติดเชื้อที่ข้อต่อ หรือติดเชื้อเข้ากระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

• โรคเริม ส่วนใหญ่อาการไม่ร้ายแรง แต่เชื้อไวรัสจะอยู่ในร่างกายของคนที่เคยติดเชื้อไปตลอด แม้จะไม่ส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ แต่บางกรณี มีการส่งผ่านเชื้อไปยังทารกที่เกิดมา 

 เชื้อเอชไอวี/ โรคเอดส์ เชื้อเอชไอวีสามารถส่งผ่านให้สู่ตัวอ่อนในครรภ์ หรือผ่านการให้นมเมื่อเด็กเกิดมาแล้ว อย่างไรก็ดี แม่มีเชื้อ ไม่จำเป็นว่าลูกจะต้องติดเชื้อเสมอไป ผู้ติดเชื้อควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจมีลูก หรือรีบไปฝากครรภ์ เพื่อรับการดูแลและป้องกันการส่งผ่านเชื้อสู่ลูก

เราจะสกัดปัญหาดังที่กล่าวมานี้ได้อย่างไร?

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดต่อและแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เมื่ออายุเกิน 25 ปี และผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจหาเชื้อโรคคลามีเดีย โรคหนองในโกโนเรีย เอชไอวี/เอดส์
  • ก่อนมีเซ็กส์ ต้องชัวร์ว่าคู่ของเราปลอดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีดีที่สุด คือพากันไปตรวจเช็คสุขภาพทั้งสองคนเพื่อความมั่นใจซึ่งกันและกัน