บทความ / ข่าว

เซ็กซ์ของเด็กเร่ร่อน
05/05/2018 11:28

“พิกัดเพศ” รายการของ สคส.ทาง ThaiPBSradio คุยกับ “ครูอั้ม” อภัสรินทร์ ขณะรัตน์ และ “ครูมล” ญาณิศา ศรีสง่า จากกลุ่ม “อรุณประไพเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน” เรื่องการทำงานกับเด็กเร่ร่อน และ “โครงการสุขภาวะเพศ เด็ก และเยาวชนเร่ร่อน” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ ที่ สคส.ดำเนินการโดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สคส: เรารู้จำนวนประชากรเด็กเร่ร่อนที่ชัดเจนหรือไม่

ครูอั้ม: มีงานวิจัยที่คาดการณ์ว่า คนเร่ร่อนในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ที่เป็นเด็กน่าจะประมาณ 3,000-4,000 คน ในพื้นที่วงเวียน 22 สะพานพุทธ หัวลำโพง ที่เราดูแลอยู่ ข้อมูลเดือนตุลาคมถึงมกราคมที่ผ่านมา มีประมาณ 45-50 คน 

สคส: ในช่วง 10 ปีที่ทำงานกับเด็กเร่ร่อน มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างไร

ครูอั้ม: ในอดีตส่วนใหญ่เด็กออกจากบ้านเลยอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้มีทั้งเร่ร่อนถาวรและชั่วคราว เร่ร่อนถาวรคือ เด็กออกมาจากบ้าน เร่ร่อนไปเรื่อยๆ บางคนจำบ้านตัวเองไม่ได้ เพราะออกมาตั้งแต่ยังเล็ก กับพวกชั่วคราว เด็กวัยรุ่นที่อยู่บ้านแล้วรู้สึกว่าไม่มีความสุข บางคนโดนเรื่องของความรุนแรง การถูกกระทำจากครอบครัว ก็ออกมา แต่พอปรับความเข้าใจกันได้ หรือรู้สึกว่าพร้อมที่จะกลับก็จะกลับไป เข้าๆ ออกๆ เราเจอว่า บางคนฐานะดีมาก พ่อแม่เป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ไม่มีเวลาดูแลลูก สุดท้าย ลูกเลือกที่จะคบหาเพื่อน หรือว่าใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เราเจอเคสอย่างนี้หลายรายในพื้นที่

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ เมื่อก่อนเราจะเจอเยาวชนเด็กเร่ร่อนตามข้างถนน ใช้พื้นที่สาธารณะในการดำรงชีวิต แต่ 10 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนมีการรวมตัวกัน ดูแลกันมากขึ้น เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อหาเงินมาใช้ชีวิต แต่ก็เป็นวันๆ คืนๆ ไป เด็กถูกบีบให้เข้าไปอยู่ในเคหสถานมากขึ้น ต้องรวมเงินกันหาห้องเช่ารายวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับ เพื่อไม่ให้ถูกเรื่องของความรุนแรง หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ หรือบางกรณีเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ แล้วก็มีการโยกย้ายตลอดเวลา 

สคส: สถานการณ์ที่บีบให้เด็กต้องปรับตัวแบบนี้ คืออะไร

ครูอั้ม: เด็กต้องหาพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น ภาครัฐเข้ามาจัดการพื้นที่สาธารณะมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเมือง พื้นที่ที่เคยแอบหลบมุมได้ก็มีการพัฒนาเข้ามา เป็นปัจจัยที่บีบให้คนกลุ่มนี้ต้องเข้ามารวมตัวกัน และช่วยเหลือดูแลกัน

สคส: นโยบายภาครัฐต่อเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร

ครูอั้ม: หลายหน่วยงานพยายาม “ดูแล” และ “สร้างโอกาส” ให้กับเด็ก เยาวชน และคนเร่ร่อนทั่วไป โดยให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ในการดูแลของรัฐมากขึ้น เป็นความตั้งใจที่ดี เพียงแต่หลายอย่างไม่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิต และความรู้สึกให้กับคนเหล่านี้ ทำให้หลายคนเลือกที่จะหนีออกมาใช้ชีวิตอิสระและดูแลกันเอง  

สคส: การอยู่อาศัยเป็นที่ทางมากขึ้น ทำให้เด็กมีความเสี่ยงน้อยลงหรือไม่

ครูอั้ม: ไม่นะคะ แต่เปลี่ยนรูปแบบ เมื่อก่อนอาจใช้พื้นที่สาธารณะได้ อย่างเช่น ใช้แม่น้ำลำคลองตรงสะพานพุทธในการดูแลร่างกายตัวเอง พอมีที่อยู่มิดชิด แต่ไม่มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพร่างกาย จะอยู่ข้างนอกหรืออยู่ข้างในก็มีค่าเท่ากัน แล้วพอเป็นพื้นที่ปิด ที่เด็กไปอยู่รวมกันหญิงชาย ก็นำไปสู่เรื่องเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงและอันตรายมากขึ้น ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะ การที่จะทำอะไรแบบนี้ค่อนข้างยากนิดนึง 

สคส: การขาดความรู้ สร้างปัญหาให้กับเด็กๆ อย่างไรบ้าง

ครูอั้ม: เราพบตั้งแต่เรื่องการทำความสะอาดร่างกาย การอาบน้ำ แปรงฟัน ล้างหน้า ไปจนถึงโรคทางเพศสัมพันธ์ อย่างเอชไอวี ซิฟิลิส หนองใน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปสู่เรื่องที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

สคส: เด็กไม่มีความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

ครูอั้ม: ใช่ค่ะ และเราเจอประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ เด็กบางคนไม่แน่ใจว่า ตัวเองอยากจะสร้างบุคลิกภาพของตัวเองแบบไหน หรือมีความรู้สึกรักแบบไหน แล้วเด็กไม่มีแหล่งความรู้ ความรู้ที่จะหาได้ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง เช่น เรื่องการกินยาคุมกำเนิดสำหรับสาวๆ เขาก็ไม่รู้ว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง เจอว่าบางคนไปแอบซื้อ หรือแบ่งต่อๆ กันไป แม้แต่เด็กผู้หญิงเองจะกินยาคุมก็ไม่สามารถกินอย่างถูกต้อง

สคส: โครงการสุขภาวะเพศ เด็ก และเยาวชนเร่ร่อน ทำอะไรบ้าง

ครูมล: เริ่มจากกิจกรรม Snap shot คะ คือการลงพื้นที่ในช่วงเวลาตั้งแต่สี่ทุ่มครึ่งเป็นต้นไป เราจะเดินหาเด็ก เพื่อจะคุยกับเขาว่า ครูจะทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศ อยากให้น้องๆ มาร่วมศึกษา พูดคุยในเรื่องของปัญหาสุขภาพ สุขภาวะ แล้วค่อยๆ ชักชวนเขาให้มาเป็นแกนนำเยาวชน พอได้กลุ่มแกนนำ เราก็จะชวนมาอบรมให้ความรู้ โดยเชิญสมาคมเพศวิถีเข้ามาให้ความรู้น้องๆ เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย 

ครูอั้ม: ประเด็นสำคัญคือเรื่องความไว้วางใจ ไม่ใช่ว่าไปแล้วเรียกมาทำกิจกรรม แล้วเด็กจะมาเลย บางพี้นที่ เราต้องใช้แกนนำหรือคนรู้จักให้พาลงพื้นที่ เพื่อทำความคุ้นเคยกับเด็กๆ เรา Snap shot กัน 10 กว่าครั้ง ใช้เวลา 3-4 เดือน กว่าจะดึงพวกเขามาได้

สคส: มีเด็กร่วมเป็นแกนนำกี่คน 

ครูมล: รอบล่าสุดที่จัดอบรม ได้แกนนำมา 23 คน จากเดิม เราตั้งใจว่าจะสัก 15 คน แต่น้องๆ ชวนกันมา ซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มีน้องตั้งแต่อายุ 12 ถึง 30 ปี

สคส: มาระดมปัญหาเรื่องสุขภาพทางเพศของเด็ก พบอะไรบ้าง

ครูมล: ตอนแรกเราคิดว่า ปัญหาของน้องๆ อาจจะรู้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เจอจริงๆ คือ น้องไม่รู้จริงๆ อย่างน้องกลุ่มกะเทย ถามว่า หนูไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ เสี่ยงติดเชื้อไหม ซึ่งเขาเข้าใจผิดมาตลอดว่าปลอดภัยกว่า ทำให้ไม่มีการป้องกัน

ครูอั้ม: คำถามของเด็กทำให้เรารู้ว่า เขาเข้าไม่ถึงความรู้ อาศัยเปิดจากอินเทอร์เน็ต แต่น่ากลัวตรงที่เด็กไม่รู้ว่าข้อมูลถูกหรือผิด แล้วเอามาบอกต่อๆ กัน แล้วนำสิ่งที่รู้ไปใช้ในชีวิตจริงมันก็พลาด พอมีปัญหาก็ไม่สามารถรับความช่วยเหลือจากหน่วยบริการต่างๆ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเสียเด็กจากการติดเชื้อเอชไอวี 3-5 คน คนที่รับเชื้อใหม่ก็มีเปอร์เซ็นที่สูงขึ้น และแนวโน้มในอนาคต คาดการณ์ว่า ถ้าเด็กยังได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แล้วไม่ป้องกันตัวเองอย่างนี้ น่าจะมีสิทธิติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่ำ 80% 

สคส: ในบ้านเรา ประเด็นติดเชื้อเอชไอวีแล้วตายน่าจะหมดไปแล้ว เพราะมีระบบบริการ มียาต้านเชื้อ สำหรับเด็กเร่ร่อนสถานการณ์เป็นอย่างไร 

ครูอั้ม: เด็กกลุ่มนี้ ไม่สามารถเข้าถึงถุงอนามัยได้ ถึงจะมีขายทั่วไป แต่เงิน 40 บาทสำหรับการซื้อถุงยางอนามัย เป็นเรื่องยากมากสำหรับพวกเขา สอง เข้าไม่ถึงความรู้ แล้วยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่ขายบริการ ก็จะเกิดปัญหาว่า คนที่ซื้อบริการไม่ยอมใช้ถุงยาง 

ในส่วนการช่วยเหลือดูแล ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เนื่องจากเด็กและเยาวชนเด็กเร่ร่อนหลายคนไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งหมายถึงการไม่มีสิทธิตามกฎหมาย การรักษาพยาบาล เวลาเจ็บป่วย สิ่งที่ทำได้ คือการดูแลกันเอง และการขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่รู้จัก แต่บางคนที่ไม่รู้จักและไม่ได้อยู่ในกลุ่มก็ต้องซื้อยาเอง ดูแลกันเองตามมีตามเกิดค่ะ

สคส: เด็กเร่ร่อนรับรู้เรื่องเอชไอวีอย่างไร

ครูอั้ม: รู้แค่ว่าเขามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ไม่รู้ว่า.. ไม่เชิงไม่เชื่อนะคะ แต่เขาไม่เห็นความตาย พอไม่ได้มีอาการทันที นานๆ ไปพอเกิดแผล มีไข้ เขาก็จะมองเป็นเรื่องปกติที่จะเจ็บป่วย การจะกินยาทุกวันไม่ง่าย แค่กินข้าวให้ครบทุกมื้อก็ยากแล้ว อีกอย่างเรื่องเอชไอวีต้องเรียกว่าไม่อยู่ในความสนใจของเด็กๆ

สคส: แต่งานของโครงการฯ ฟังดูเหมือนได้รับการตอบรับที่ดีจากเด็ก

ครูอั้ม: ถ้าเข้าถึงตัวเขาได้ เขาไว้วางใจ เราจะเจอคำถามแบบตรงๆ เลย “ครู ผมเป็นแผล” แทบจะเอาออกมาให้ดู เราพบว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องสนุกที่เขาอยากรู้จริงๆ แล้วมีคำถามเยอะมากที่อยากได้คำตอบ มันทำให้เขาเข้ามาหาเราด้วยซ้ำถ้าเทียบกับการทำงานเรื่องทักษะชีวิตอื่นๆ 

ครูมล: ก่อนที่จะลงไป เราคิดว่าทำงานเรื่องเพศกับเด็กน่าจะยาก น้องๆ คงไม่กล้าพูด เพราะที่เราเคยไปทำงานกับเด็กในชุมชน การพูดคุยเรื่องเพศจะค่อนข้างยาก น้องจะอาย แต่พอกลุ่มน้องที่เร่ร่อน เขากล้าถาม ช่วงที่มีประจำเดือน ท้องได้ไหม เป็นผดเป็นผื่นที่อวัยวะเพศ ถามเยอะมาก ถามหลายเรื่องเลย เพราะเขาประสบปัญหา

สคส: ความสนใจและวิถีชีวิตแบบนี้ ถ้าได้ความรู้ เด็กน่าจะดูแลตัวเองได้มากขึ้น

ครูอั้ม: เราประเมินกันว่าเด็กได้ประโยชน์สูงนะคะ ยิ่งพอเป็นแกนนำ แล้วต้องไปสอนเพื่อน เขายิ่งต้องหาความรู้ เพราะเพื่อนจะเป็นคนตรวจสอบว่าแกนนำรู้จริงหรือเปล่า 

สคส: ตอนนี้ โครงการฯ อยู่ในขั้นตอนไหน 

ครูอั้ม: เดิมเราตั้งใจไว้ว่า พอมีแกนนำ 4-5 คนแล้ว ก็จะไปลงให้ความรู้เพื่อนๆ ปรากฏว่า ผลตอบรับของเด็กๆ เกินจำนวนมาก ได้มา 20 กว่าคน เลยคุยกันว่าจะเอาลงพื้นที่ 4-5 คน ก็ไม่ยอมค่ะ กลายเป็นว่าต้องจัดคิวกันใหม่ แล้วก็อบรมให้ความรู้เรื่องอื่นๆ ที่เขาสนใจ ซึ่งเราต้องปรับเนื้อหา เพราะตอนแรกวางไว้ในกรอบของเด็กและเยาวชนทั่วไป แต่พอมาทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ ทำให้ต้องกลับมาเพิ่มเติมเนื้อหาอีกหลายเรื่องถึงจะทำให้เขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง

สคส: งานของ “อรุณประไพเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน” เข้าไปทำอะไรกับเด็กๆ บ้าง

ครูอั้ม: เราทำเรื่องของทักษะชีวิตสำหรับเด็กเร่ร่อน การให้คำปรึกษา การพัฒนาให้เด็กมีการสร้างเป้าหมายในชีวิต เพราะเราเชื่อว่า การที่เด็กคนนึงจะหยุดใช้ชีวิตอย่างอิสระ แบบเร่ร่อน โดยไม่มีจุดหมาย ซึ่งมันจะทำให้เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตโดยที่ไม่แคร์อะไรเลย ไม่รู้จะเดินไปทิศทางไหน พอเราทำงานเรื่องของเป้าหมายชีวิต เราจะเจอว่าจริงๆ แล้ว เด็กทุกคนมีความหวังและความฝันในการที่จะเดินไปข้างหน้า เราทำ “แผนที่ชีวิต” ร่วมกับเด็ก ทำให้เห็นว่า เขาสามารถที่จะเดินไปสู่เป้าหมายของชีวิตตรงนั้นได้ 

เราจะเจอว่าจริงๆ แล้ว เด็กทุกคนมีความหวังและความฝันในการที่จะเดินไปข้างหน้า เราทำ “แผนที่ชีวิต” ร่วมกับเด็ก ทำให้เห็นว่า เขาสามารถที่จะเดินไปสู่เป้าหมายของชีวิตตรงนั้นได้ 

สคส: วิธีการเป็นอย่างไร ฟังดูน่าสนใจ เพราะแม้แต่เด็กทั่วไป จำนวนไม่น้อยก็ขาดเป้าหมายในชีวิต 

ครูอั้ม: ให้เขากำหนดเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิต ต้องการอะไร อยากจะเป็นอะไร เหมือนที่เราถามเด็กทั่วไป หนูอยากเป็นอะไร หนูอยากทำอะไร

สคส: เด็กเร่ร่อนอยากเป็นอะไร

ครูอั้ม: บางคนอยากเป็นเบลล์บอยทำงานในโรงแรม หลายคนอยากเป็นเจ้าของเก้าอี้พับริมชายหาด บางคนอยากทำงานเซเว่น 7-11 คือความฝันของเขา

สคส: เด็กทั่วไปอาจจะตอบว่า อยากเป็นหมอ เป็นตำรวจ แต่ฝันของเด็กเร่ร่อนดูไม่ไกลตัวมาก ฟังเหมือนมีความเป็นไปได้มากกว่า

ครูอั้ม: เขาตอบด้วยประสบการณ์ของเขา ด้วยความที่เขารู้สึกว่าตัวเองเร่ร่อน การถูกกดทับจากแววตาจากสังคมทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ไม่มีคุณค่า ฉะนั้น อะไรที่เป็นความฝันที่สามารถทำได้จริง อาจจะดูว่ามันง่าย แต่สำหรับเขา รู้สึกว่า โอ้โห มันยิ่งใหญ่ แล้วก็ไกลตัวพอๆ กับที่ลูกเราตอบว่าอยากเป็นหมอ เพราะเขาไม่เห็นทิศทาง ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร 

พอเราได้เป้าหมาย ก็จะมาร่วมกันทำแผนที่ชีวิต ช่วยกันวิเคราะห์ว่า การจะไปถึงจุดหมายตรงนั้นได้ต้องทำอย่างไร เช่น ถ้าอยากเป็นเบลล์บอย ต้องเรียนจบ ม.3 ต้องมีทักษะภาษานิดหนึ่ง ต้องรู้จักมารยาทในสังคม พอมีแผนที่ตรงนี้เขาก็จะรู้ว่า จะต้องปรับตัวเองอย่างไร เราก็จะให้ความช่วยเหลือ จะเรียน ม.3 อยากเข้าระบบไหม เรียน กศน. เรื่องมารยาทสังคม รู้จักกิจกรรมที่ทำให้เขามีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น 

สคส: เช่นกิจกรรมอะไรบ้าง

ครูอั้ม: จัดกีฬา พาเด็กไปพิพิธภัณฑ์ การเข้าพิพิธภัณฑ์มีเรื่องของมารยาท การอยู่ร่วมกันในสังคม พาเด็กไปดูหนัง การเข้าไปโรงหนังต้องมีมารยาทในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ไม่ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว หรือแม้กระทั่งพาไปกินหมูกระทะ ก็เป็นเรื่องมารยาทในสังคม ค่อยๆ ให้เขาปรับค่ะ

สคส: กินหมูกระทะ เรียนรู้ทักษะอะไร

ครูอั้ม: หนึ่ง การเผื่อกัน คุณจะตักอะไรสักอย่าง ไม่ใช่กอบโกย วิธีการกินอาหารร่วมกับคนอื่น จากเดิมบางคนเคยหยิบอาหารจากถังขยะ ต้องมาใช้ช้อนใช้จาน ใช้ตะเกียบ แล้วกินร่วมกับเพื่อนด้วย มันเป็นมารยาทพื้นฐาน เราทำงานกับเด็ก  การเดินเข้าร้านเคเอฟซีเป็นเรื่องยากมาก การสั่งไก่ โห มันเป็นเรื่องน่ากลัวมากสำหรับเขา แต่พอค่อยๆ ทำไป เขาจะเริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง กล้าที่จะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องค่อยๆ ขยับค่ะ 

ส่วนเรื่องของการเรียน จะเป็นระยะเวลาที่นาน ด้วยภาวะของการเร่ร่อน มันทำให้เขาไม่สามารถหยุดอยู่เป็นที่ได้ แต่การกลับเข้าระบบได้ มันต้องต่อสู้กับความต้องการอะไรหลายอย่างของเขา สิ่งที่เราทำควบคู่คือ การให้คำปรึกษา การเสริมความเชื่อมั่นให้เขารู้สึกว่าทำได้ การทำกิจกรรมศิลปะบำบัด พยุงกันหลายทาง จนหลายคนเรียนจบได้

สคส: อะไรที่ทำให้เด็กไม่สามารถอยู่เป็นที่ได้นาน จนสามารถเรียนหนังสือได้

ครูอั้ม: เด็กๆ ไม่ได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความเบื่อ ความเศร้า ความเซ็ง อารมณ์โกรธ ทำให้พฤติกรรมหลายอย่างนำไปสู่ความรุนแรง เช่น พอจัดการอารมณ์โกรธไม่ได้ก็เอามีดไปแทงคนอื่น สุดท้ายต้องเข้าไปในระบบศาล ระบบสถานพินิจ เข้าไปแล้วไม่ได้เรียนต่อ หรือบางคนรู้สึกเบื่อ ไม่รู้จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร สุดท้ายก็ใช้การเดินทางไปเที่ยวโน่น เที่ยวนี่ เล่นไปวันๆ แต่ถ้าเด็กเห็นว่า ตัวเองมีคุณค่าแล้วยึดมั่นในเป้าหมายที่ตัวเองมี มันทำให้เขาเลือกที่จะกลับมา อาจไม่ได้เข้าเรียนเต็ม 100% แต่ยังกลับมาเรียน กลับมาหาความฝันของตัวเองได้

สคส: ในการทำงาน ตั้งเป้าหมายไหมว่า เด็กจะต้องกลับเข้าในระบบ หรือต้องมีวิถีชีวิตแบบไหน 

ครูอั้ม: เด็กมีสิทธิเลือกค่ะ เราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา วันนี้เขาอาจไม่พร้อมที่จะเลือก หน้าที่เราก็คือ สร้างโอกาส เพราะเราไม่ใช่เจ้าของชีวิตเขา เขาจะเดินในทิศทางไหน สิ่งที่เราดู หนึ่ง คือ เรื่องความปลอดภัย สอง เราให้กำลังใจ ดอกไม้จะบานเมื่อไรเป็นเรื่องความพร้อมของเขา “อรุณประไพ” คือ พระอาทิตย์ ไม่ว่าจะมีฝน หรือไม่มีฝน เราก็จะยังคงทำหน้าที่ของเรา มนุษย์ก็มีสิทธิที่จะเลือก ที่จะเป็น แล้วเราก็ต้องยอมรับการเลือกของเขา หลายคนกลับไปอยู่กับครอบครัว บางคนเลือกที่จะเข้าสู่ระบบการเรียน 

ไม่ว่าจะมีฝน หรือไม่มีฝน เราก็จะยังคงทำหน้าที่ของเรา มนุษย์ก็มีสิทธิที่จะเลือก ที่จะเป็น แล้วเราก็ต้องยอมรับการเลือกของเขา หลายคนกลับไปอยู่กับครอบครัว บางคนเลือกที่จะเข้าสู่ระบบการเรียน 

สคส: ขอตัวอย่างของการเลือกที่จะเร่ร่อนต่อไป แล้วครูมองเป็นความสำเร็จในการทำงาน

ครูอั้ม: เรื่องเพศนี่แหล่ะค่ะ เด็กยังคงเร่ร่อน ยังเข้าสู่การขายบริการ แต่เขามีความรู้เรื่องเพศ ดูแลตัวเองได้ และสามารถเป็นแกนนำที่ให้ข้อมูลความรู้กับคนอื่นได้ สอนให้เพื่อนๆ น้องๆ ใช้ถุงยาง กินยาคุมอย่างถูกต้อง เราถือว่า ประสบความสำเร็จมาก

สคส: ทำงานมา 10 ปีสำหรับครูอั้ม อะไรเป็นแรงที่ทำให้ทำงานกับเด็กกลุ่มนี้

ครูอั้ม: เราเชื่อในการพัฒนาคน ทุกคนพัฒนาได้ในระดับที่แตกต่างกัน แล้วพอเขาปรับ เขาเปลี่ยน เราเรียนรู้ว่าการทำงานก็เหมือนการปฎิบัติธรรม ทำให้เรามีความสุขกับการทำงาน และได้เรียนรู้ตัวเองจากการทำงาน เด็กๆ จะมีคำว่า “จบเกม” สิ่งที่เราสอนเด็กๆ ก็คือ ถ้าชีวิตคือเกมส์ การที่จะแก้ปัญหา ก็คือการหาแนวทางที่จะผ่านแต่ละด่านไปให้ได้ 

สคส: จากประสบการณ์ทำงาน ทักษะชีวิตสำคัญที่สุดสำหรับเด็กเร่ร่อน คือเรื่องอะไร

ครูอั้ม: ทักษะชีวิตที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กเร่ร่อน คือการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ที่เห็นคุณค่าของตัวเอง

สคส: เด็กเร่ร่อนมีความสุขไหม

ครูอั้ม: แรกๆ เราเจอว่า หลายคน โห ชีวิตทุกข์มากเลย ทุกข์ด้วยวิธีคิดของตัวเขาเอง แต่พอเขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ชีวิตเขาจะเริ่มมีความสุข เริ่มมีความหวัง ซึ่งตรงนี้สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา